Last updated: 14 พ.ย. 2567 | 737 จำนวนผู้เข้าชม |
การพัฒนาโซลาร์เซลล์ และศูนย์ข้อมูลพลังงาน
เรายังอยู่กันที่มณฑลไห่หนานหรือเกาะไหหลำ อย่างที่บอกไปในตอนแรกว่า มณฑลไห่หนานเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีน ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2026-2035 อัตราการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5.2% ต่อปี โดยปัจจุบันพลังงานไฟฟ้าส่วนใหญ่ของมณฑลไห่หนานผลิตจากเชื้อเพลิงถ่านหินและพลังงานนิวเคลียร์ โดยรัฐบาลจีนตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2030 มณฑลไห่หนานจะเป็นเกาะพลังงานสะอาด ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงถ่านหิน และส่งเสริมเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งห้ามจำหน่ายยานยนต์ที่ใช้น้ำมันด้วย
รัฐบาลมณฑลไห่หนานได้จัดทำ แผนปฏิรูปพลังงาน ตั้งเป้าหมายใช้พลังงานสะอาด (ก๊าซธรรมชาติ/นิวเคลียร์/พลังงานหมุนเวียน) สัดส่วน 50% ภายในปี 2030 และใช้พลังงานสะอาด 100% ในปี 2035 โดยแผนปฏิรูปพลังงานยังครอบคลุมถึงระบบบริหารจัดการพลังงานเพื่อกระจายไปยังพื้นที่ชนบท การพัฒนาตลาดพลังงานให้เปิดกว้างและเกิดการแข่งขัน การพัฒนาสิ่งแวดล้อมทางด้านนโยบายของกลุ่มพลังงาน และการสนับสนุนนวัตกรรมและเทคโนโลยีพลังงาน
ตอนนี้เราจะพาไปดูโรงไฟฟ้า Yinggehai (อิงเก้อไห่) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 400 เมกะวัตต์ (MW) แบตเตอรี่กักเก็บพลังงานขนาด 200 เมกะวัตต์-ชั่วโมง (MWh) ซึ่งเป็นสถานีกักเก็บพลังงานไฟฟ้าแบบรวมศูนย์ที่ใหญ่ที่สุดในมณฑลไห่หนาน ตั้งอยู่บนพื้นที่นาเกลือเก่า และพื้นที่ลุ่มน้ำชายฝั่ง Nacho มีหน้าที่รักษาเสถียรภาพ ควบคุมความถี่ของระบบไฟฟ้าในเขต Ledong และมณฑลไห่หนาน มีอายุโรงไฟฟ้าประมาณ 25 ปี พัฒนาโดยบริษัท Hainan Holdings Energy Company ทั้งโครงการดังกล่าวสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 654 ล้านหน่วยต่อปี ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ประมาณ 548,819 ตัน
โดยแบ่งพื้นที่โครงการดังนี้
• โครงการต้นแบบ เริ่มต้นในปี 2561 กำลังการผลิต 30 MW เงินลงทุน 896 ล้านบาท (190 ล้านหยวน) ผลิตไฟฟ้าได้เฉลี่ย 45 ล้าน kWh ต่อปี
• Tianhao Power Station กำลังการผลิต 100 MW เริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในปี 2565 เงินลงทุน 2,455 ล้านบาท (520 ล้านหยวน) ผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยปีละ 165 ล้าน kWh ต่อปี ระบบกักเก็บพลังงาน 50 MWh ดำเนินการโดยบริษัท Baoguang Zhizhong
• Tongsheng Power Station กำลังการผลิต 300 MW แบ่งเป็น ระยะที่ 1: 100 MW เริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในเดือนตุลาคม 2565 ระยะที่: 2 200 MW เริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในเดือนเมษายร 2566 เงินลงทุนประมาณ 8,458 ล้านบาท (1,790 ล้านหยวน) ผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยปีละ 495 ล้าน kWh ต่อปี ระบบกักเก็บพลังงาน 150 MWh ดำเนินการโดยบริษัท BYD จำนวน 50 MWh และ Sungrow Power Supply จำนวน 100 MWh
โรงไฟฟ้า Yinggehai มีระบบควบคุมที่สามารถสั่งการโดยการตั้งเวลาและเส้นทางให้หุ่นยนต์และโดรนออกไปสำรวจแผงโซลาร์เซลล์ และพื้นที่ระบบกักเก็บพลังงานแบบอัตโนมัติ เพื่อตรวจสอบความผิดปกติ หรือสิ่งแปลกปลอม ด้วยระบบอินฟราเรด ในการตรวจวัดอุณหภูมิ ด้วยระบบประมวลผล AI ซึ่งสามารถแจ้งเตือนได้ทันทีเมื่อแผงโซลาร์เซลล์มีความผิดปกติ พร้อมวิเคราะห์ความผิดปกติดังกล่าวว่าจะส่งผลต่อการผลิตไฟฟ้าหรือไม่ หากจำเป็นต้องแก้ไข ระบบจะสามารถแจ้งความผิดปกติ พร้อมให้ข้อแนะนำได้ตรงจุดและแม่นยำ ช่วยลดระยะเวลา และจำนวนเจ้าหน้าที่ในการดูแลพื้นที่ทั้งหมด พร้อมเสริมประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
นายธวัชชัย สำราญวานิช รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Yinggehai กำลังการผลิตสูงถึง 400 MW พร้อมติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานรวม 200 MWh ซึ่งพัฒนาบนพื้นที่นาเกลือที่เลิกใช้ประโยชน์แล้ว และพื้นที่ชายฝั่งให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่นเดียวกับการพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำในเขื่อนของ กฟผ. ที่ติดตั้งบนพื้นที่ผิวน้ำในเขื่อน จึงไม่กระทบต่อพื้นที่ทางการเกษตรและไม่มีต้นทุนค่าที่่ดิน สามารถใช้อุปกรณ์และโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิมอย่างเต็มประสิทธิภาพ ทำให้มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่สามารถแข่งขันได้
ปัจจุบัน กฟผ. มีแผนจะเร่งดำเนินการโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำในเขื่อน กฟผ. จำนวน 2,656 เมกะวัตต์ ให้เสร็จสิ้นภายในปี 2573 จากทั้งหมด 2,725 MW
อีกหนึ่งโครงการที่เราได้ไปเยี่ยมชมคือ Hainan Energy Data Center ซึ่งคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปไห่หนานมอบหมายให้ Hainan Power Grid Co., Ltd. ลงทุนและสร้าง Hainan Energy Data Center เพื่อรองรับการเปลี่ยนอุตสาหกรรมพลังงานสีเขียวและคาร์บอนต่ำ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล การใช้พลังงานอย่างชาญฉลาด เป็นฐานข้อมูลในการพัฒนานโยบายด้านพลังงานของมณฑล และเพื่อเป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลและให้บริการด้านพลังงานของมณฑลไห่หนาน โดยเปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 ประกอบด้วย Data Center 4 ศูนย์ คือ
• Energy Digital Innovation Center พัฒนานวัตกรรมและบริการด้านพลังงานจากการวิเคราะห์ข้อมูลด้านพลังงาน
• Energy Data Value Center พัฒนาแพลตฟอร์มบริหารสินทรัพย์พลังงาน
• Energy Data Sharing Center พัฒนาแพลตฟอร์มรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลพลังงาน
• Energy Data Convergence Center พัฒนาแพลตฟอร์มจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลด้านพลังงาน เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ในจังหวัด
ปัจจุบัน Hainan Energy Data Center ได้พัฒนาแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อรองรับและสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด อาทิ
• Hainan Energy Guarantee Operation Dispatching Monitoring System Platform (อยู่ระหว่างทดลองใช้งาน) เป็นแพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูลด้านพลังงานต่าง ๆ ของมณฑลไห่หนาน ทั้งการผลิตและการใช้ไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และแหล่งพลังงานอื่น ๆ โดยแสดงได้ทั้งข้อมูลกำลังการผลิตติดตั้ง และพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ของโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ของมณฑลไห่หนาน ข้อมูลการใช้พลังงานของประชากรและบริษัทอุตสาหกรรมทั้งในปัจจุบันและอดีต ข้อมูลสมดุลการผลิตและใช้พลังงาน เพื่อช่วยในการกำหนดแนวทางการวางแผนพัฒนาพลังงานต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำ
• Hainan Free Trade Port (Energy) Economic Insight Platform (อยู่ระหว่างทดลองใช้งาน) เป็นแพลตฟอร์มที่รวบข้อมูลการใช้พลังงานของหลากหลายอุตสาหกรรมในมณฑลไห่หนาน ร่วมกับข้อมูลทางเศรษฐกิจและการค้าจากหน่วยงานภาครัฐ เพื่อสร้างเป็นดัชนีเศรษฐกิจของเกาะไห่หนาน ทำให้ทราบข้อมูลทางเศรษฐกิจที่แม่นยำในระดับ เมือง ตำบล เขตพัฒนาเศรษฐกิจ นิคมอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ ของมณฑลไห่หนาน เพื่อนำมาประยุกต์ใช้สร้างนโยบายที่แก้ปัญหาของแต่ละอุตสาหกรรมได้อย่างถูกต้อง
• Energy Consumption Monitoring of State-owned Enterprises and Industries เป็นแพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูลการใช้พลังงานต่าง ๆ เช่น ไฟฟ้า น้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ ความร้อน ของรัฐวิสาหกิจในมณฑลไห่หนาน เปรียบเทียบกับการใช้พลังงานของธุรกิจและอุตสาหกรรมทั้งหมดบนเกาะ เพื่อช่วยให้รัฐวิสาหกิจสามารถบริหารจัดการการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ
• Hainan Energy and Carbon Intelligent Management Platform เป็นแพลตฟอร์มที่รวมข้อมูลการผลิตและการใช้พลังงาน ไปจนถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากพลังงานต่าง ๆ ช่วยให้รัฐบาลมณฑลไห่หนานสามารถติดตามและควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในพื้นที่ต่าง ๆ ได้
• Hainan New Power System Operation Planning Platform เป็นแพลตฟอร์มช่วยบริหารจัดการและวางแผนพัฒนาแหล่งพลังงานใหม่ของมณฑลไห่หนาน โดยวิเคราะห์ข้อจำกัดและติดตามการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าทั้งด้าน แหล่งพลังงาน ระบบโครงข่ายไฟฟ้า และระบบกักเก็บพลังงาน เพื่อเสนอแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่าวไฟฟ้า ตลอดจนการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานใหม่
นายธวัชชัย สำราญวานิช รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. บอกว่า สำหรับประเทศไทย กฟผ. ได้จัดตั้งศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (RE Forecast Center) นำข้อมูลการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ของผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) จำนวน 29 แห่ง ที่เชื่อมต่อกับระบบของ กฟผ. มาวิเคราะห์และประมวลผล จากนั้นนำผลการพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไปวางแผนการผลิตไฟฟ้าร่วมกับโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงประเภทอื่น ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ เป็นการนำข้อมูลด้านพลังงานมาใช้วิเคราะห์และวางแผน ตอบโจทย์การบริหารจัดการพลังงานสีเขียวในอนาคตอย่างเป็นรูปธรรม
ข้อมูลการพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในระยะเริ่มต้นมาจาก SPP เป็นหลัก หากในอนาคต สามารถนำข้อมูลการผลิตไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จากหน่วยงานอื่น ๆ มาร่วมประมวลผล จะยิ่งทำให้การพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของประเทศมีความแม่นยำสูงขึ้น ส่งผลดีต่อการบริหารจัดการพลังงานของประเทศในภาพรวมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทางจีนเองยังมีแผนปรับปรุงโครงข่ายระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคงมากขึ้นเพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบของโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ (Pumped Storage Hydropower) จำนวนมาก เนื่องจากเป็นระบบกักเก็บพลังงานขนาดใหญ่ที่มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยต่ำเมื่อเทียบกับระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบอื่น ๆ โดยนำพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าต่ำสูบน้ำไปกักเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำตอนบน และปล่อยกลับมาผลิตไฟฟ้าในเวลาที่ต้องการ ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าทดแทนพลังงานหมุนเวียนได้อย่างทันท่วงที
ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยก็มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ 3 แห่ง รวม 1,531 MW คือ
• โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี กำลังผลิต 360 MW
• โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก กำลังผลิต 171 MW
• โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา จังหวัดนครราชสีมา กำลังผลิต 1,000 MW
และมีแผนพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับในอนาคตเพิ่มอีก 3 แห่ง ประมาณ 2,480 MW เมกะวัตต์ ได้แก่
• โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ กำลังผลิต 800 MW
• โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเขื่อนวชิราลงกรณ จังหวัดกาญจนบุรี กำลังผลิต 900 MW
• โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเขื่อนกะทูน จังหวัดนครศรีธรรมราช กำลังผลิต 780 MW
จะเห็นได้ว่าประเทศจีนกำลังมุ่งสู่ Carbon Neutrality อย่างเข้มข้น มีนโยบายที่ชัดเจนในการส่งเสริมการลงทุนพลังงานสะอาดทุกรูปแบบ ประเทศไทยเองก็เช่นกัน มีการกำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดไว้ในร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี 2024) ถึง 51% โดย กฟผ. เป็นองค์กรหนึ่งที่มีบทบทสำคัญในการขับเคลื่อนให้มุ่งไปสู่เป้าหมายที่ได้ตั้งไว้
11 พ.ย. 2567
21 พ.ย. 2567
18 พ.ย. 2567
18 พ.ย. 2567