ปตท. จำกัด (มหาชน)

Last updated: 19 พ.ย. 2567  |  219 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปตท. จำกัด (มหาชน)

ปตท. ปรับใหญ่กลับมาเน้นยึด Core Business หนุนคาร์บอนต่ำ

ปตท. ปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ หันกลับมาเน้น Core Business ให้ความสำคัญกับธุรกิจน้ำมันที่มีความถนัด ส่วนธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า เดินหน้าต่อสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ทำเป็น Single Brand ส่วนธุรกิจยานยนต์ส่วนอื่น โรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้าที่ร่วมกับ ฟ็อกซ์คอนน์ ให้ผู้ร่วมทุนตัดสินใจว่าจะเดินหน้าต่ออย่างไร ขณะที่โรงงานหยุดการก่อสร้างอยู่ ธุรกิจ Life Science ก็มีการพิจารณาทบทวนใหม่ ส่วนธุรกิจไฟฟ้าพลังงานสะอาด ยกเลิกเป้าหมายกำลังการผลิต 15,000 เมกะวัตต์ เน้นทำกำไรต่อหน่วย

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ทิศทางของกลุ่ม ปตท. ในอีก 3-4 ปีข้างหน้า ปตท. จะโฟกัสในธุรกิจหลัก (Core Business) ซึ่งเป็นธุรกิจที่ถนัด เนื่องจากสถานการณ์ตลาดโลกมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ต้องดำเนินธุรกิจที่ดีที่สุดสำหรับ ปตท. โดยธุรกิจที่ทำจะต้องมีกระแสเงินสดเข้ามาเพียงพอกับมีเงินส่วนหนึ่งไปทำเรื่องการลดคาร์บอน ซึ่งกำลังเป็นทิศทางที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังทำอยู่

ที่ผ่านมา ปตท. มีการขยายธุรกิจที่หลากหลาย จึงต้องมีการทบทวนใหม่ทั้งหมด เพื่อดูว่าธุรกิจใดที่ยังเป็นธุรกิจที่ดีสามารถทำกำไรให้กับ ปตท. ได้ ส่วนธุรกิจใดที่ไม่ดี ก็จะต้องมีการปรับใหม่ทั้งหมด โดยธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) มีการ Revisit ตั้งแต่ต้นทางจนถึงแบตเตอรี่ จะมีการเดินหน้าต่อในส่วนของสถานีชาร์จรถยนต์ EV เพราะมีศักยภาพการเติบโต โดยจะให้ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เป็นผู้ดำเนินการเป็นหลัก เพราะจะมีการขยายมากขึ้นในสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชัน โดยจะมีการรวมแบรนด์ทั้งหมดที่เกี่ยวกับการชาร์จรถ EV เหลือเพียงแบรนดเดียว (Single Brand) เพื่อความคล่องตัว ซึ่งปัจจุบันมีทั้ง PTT Station Plus, Onion และยังมี EV Me ซึ่งในต้นปีหน้าจะเห็นความชัดเจน

ส่วนโรงงานประกอบรถ EV ที่ร่วมกับกลุ่มฟ็อกซ์คอนน์ ตัดสินใจให้ฟ็อกซ์คอนน์เป็นแกนนำว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร เพราะเราไม่ได้มีความถนัดเรื่องนี้ ซึ่งปัจจุบันการก่อสร้างโรงงานประกอบรถ EV ได้หยุดดำเนินการชั่วคราวเพื่อรอทิศทางที่ชัดเจน

นอกจากนี้ ในส่วนของธุรกิจต่อเนื่องจากยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีทั้งธุรกิจแบตเตอรี่ ธุรกิจดีเลอร์ขายรถยนต์ไฟฟ้า มีการ Revisit เสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างหารือกับพันธมิตรและทบทวนว่าจะเดินหน้าต่อหรือไม่ จะมีความชัดเจนในต้นปีหน้าเช่นกัน

สำหรับธุรกิจอื่น ๆ เช่น Life Science ซึ่งมีการผลิตยาพื้นฐาน อุปกรณ์ทางการแพทย์ และอื่น ๆ ก็มีการทบทวนเช่นกัน ก็จะหาพันธมิตรที่เก่งทางด้านนี้เข้ามาช่วย เพื่อให้สามารถแข่งขันกับคนอื่นได้ โดยได้มีการพูดคุยกับพันธมิตรทางธุรกิจแล้ว เพราะธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่ ปตท. ไม่ถนัดจึงต้องให้พาร์ทเนอร์ที่เก่ง ๆ เป็นผู้นำในการตัดสินใจว่าจะเดินหน้าอย่างไรให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งหลักการคือหากจะเดินหน้าต่อจะต้องสามารถจัดหาเงินทุนเพื่อดำเนินการได้ด้วยตัวเอง ต้นปีหน้าจะแล้วเสร็จ

ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น หลังจากที่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ได้ตัดสินใจที่จะยุติการดำเนินงานของ บริษัท พีทีที อาซาฮี เคมิคอล (PTTAC) และมีการตั้งด้อยค่าทรัพย์สินทั้ง PTTAC และ Vencorex ไปหมดแล้ว จะทำให้มีความคล่องตัวมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ธุรกิจนี้ยังไม่ค่อยดี ขณะนี้ได้พูดคุยกับพันธมิตรใหม่แล้ว ซึ่งต้องเป็นบริษัทที่มีวัตถุดิบ มีตลาด และมีเทคโนโลยี ทำให้แข็งแรงมากขึ้น ซึ่งปีหน้าจะมีความก้าวหน้า


เรื่องปัญหาการก่อสร้างโครงการพลังงานสะอาด (CFP) ของ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ปตท. ได้ตั้งทีมที่ปรึกษาไปให้คำแนะนำกับไทยออยล์ ทั้งเรื่องกฎหมาย เรื่องธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ และมีความสำคัญ ประกอบกับไทยออยล์มีกระแสเงินสดเพียงพอที่จะเดินหน้าต่อ จึงจะต้องก่อสร้างโครงการนี้ให้เสร็จ

ด้านธุรกิจไฟฟ้า บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC จะเป็นแกนนำ โดยจะเป็นผู้ส่งต่อพลังงานให้กับบริษัทในกลุ่ม มีการ Decarbonization ให้มีพลังงานสะอาดมากขึ้น ส่วนเป้าหมายกำลังการผลิตที่เคยตั้งไว้ว่าจะมีไฟฟ้าพลังงานสะอาด 15,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 ขณะนี้ไม่มีแล้ว แต่จะเน้นให้มีกำไรต่อหน่วยมากขึ้น

ธุรกิจ Logistic จะทำเฉพาะส่วนที่เป็นถัง ท่อ และท่าเรือ เท่านั้น ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างเช่นกัน

ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ในปีนี้ได้รับผลกระทบจาก Single Pool ทำให้รายได้ลดลง แต่ได้มีการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่เป็นสัญญาระยะยาวเพิ่มขึ้น ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีการจัดหามาเพิ่มเติมรวม 2.4 ล้านตัน จากโอมาน และบรูไน ธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ ก็มีการปรับตัว ซึ่งปีหน้าจะมีการเพิ่มการผลิตมากขึ้น จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนเรื่อง Shot Fall จำนวน 4,300 ล้านบาท ที่ไปช่วยค่าไฟฟ้า กำลังหารือกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจก๊าซฯ จะมีการดำเนินการควบคู่กับธุรกิจ Low Carbon เป็นธุรกิจไฮโดรเจนถือเป็นธุรกิจที่ดี จะต้องเดินหน้าต่อ ปตท. จะเร่งผลักดันธุรกิจใหม่ด้านการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) และธุรกิจไฮโดรเจน เร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการกักเก็บคาร์บอนจากกระบวนการผลิตของบริษัทในกลุ่ม อีกทั้งยังมีการลงทุนในธุรกิจไฮโดรเจนต่างประเทศ รองรับการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มเติม และมีเป้าหมายนำไฮโดรเจนเข้ามาผสมกับเชื้อเพลิงหลักเพื่อลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนในอนาคต

ส่วนภาพรวมการดำเนินงานในปีหน้า คาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณการผลิตปิโตรเลียมของ ปตท.สผ. จะเพิ่มขึ้น โรงแยกก๊าซฯ มีการผลิตมากขึ้น ปิโตรเคมียังทรงตัว ส่วนโรงกลั่นคาดว่าค่าการกลั่นจะต่ำกว่าปีนี้ นอกจากนี้ทั้งกลุ่มมีการตั้งเป้าที่ลดค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานให้ได้ 5% จากค่าใช้จ่ายรวม แต่คาดว่าจะสามารถลดได้ถึง 8%

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้