Last updated: 15 ม.ค. 2568 | 790 จำนวนผู้เข้าชม |
กลุ่มผู้รับเหมาช่วงโครงการ CFP ร้องสถานทูตเกาหลีจ่ายค่าแรง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 12 ธ.ค.67 กลุ่มบริษัทรับเหมาช่วงโครงการพลังงานสะอาด (CFP) จ.ชลบุรี ได้พาแรงงานเดินทางมารวมตัวกันที่ด้านหน้าสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อยื่นหนังสือต่อเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลี ประจำประเทศไทย เรียกร้อง ให้แก้ปัญหาการค้างชำระค่าจ้าง ที่เกิดขึ้นจากผู้รับเหมากลุ่มหลักซึ่งนำโดยบริษัท Samsung E&A (Thailand) Co., Ltd.
และในท้ายจดหมายยังได้แนบรายชื่อบริษัทผู้รับเหมาช่วงกว่า 100 บริษัท ที่ได้รับผลกระทบจากการค้างชำระเงินค่าแรง ที่อาจส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนงานมากกว่า 10,000 คน และอาจนำไปสู่วิกฤติทางการเงินที่ยืดเยื้อ
ในเนื้อจดหมายยังระบุว่า กลุ่มผู้รับเหมาช่วงที่รวมตัวชุมนุม เป็นผู้รับเหมาช่วงภายใต้การร่วมทุนของ (Samsung E&A (Thailand) Co., Ltd., Petrofac South East Asia Pte. Ltd. และ Saipem Singapore Pte., Ltd.) (ผู้รับเหมา) หรือ UJV สำหรับโครงการก่อสร้างของ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
ซึ่งจากปัญหาการค้างชำระค่าจ้างที่เกิดจากผู้รับเหมากลุ่มหลักที่นำโดย บริษัท Samsung E&A (Thailand) Co., Ltd. ได้ส่งผลกระทบต่อคนงานหลายพันคนที่กำลังเผชิญกับความยากจน จึงวิตกกังวลว่าอาจนำไปสู่ความไม่สงบในสังคมและอัตราการเกิดอาชญากรรมที่สูงขึ้น
ที่สำคัญการกระทำของผู้รับเหมากลุ่มหลักที่นำโดยบริษัท Samsung E&A (Thailand) Co., Ltd. ได้สร้างความเสียหายทางชื่อเสียงให้กับเจ้าของโครงการ และยังส่งผลกระทบต่อบรรยากาศทางธุรกิจและความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อโครงการที่มีรัฐเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และยังทำให้เจ้าของโครงการ สูญเสียผลตอบแทนที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากความล่าช้าของโครงการ
เนื้อหาในจดหมายยังระบุอีกว่า บริษัทย่อยของ Samsung Corporation ที่มีชื่อเสียงระดับโลกถือเป็นตัวแทนของสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้รับเหมาช่วงต้องทนทุกข์กับค่าจ้างที่ค้างชำระ อาจกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศเกาหลีและความสัมพันธ์ทางทวิภาคีกับประเทศไทย
ทั้งนี้เรียกร้องให้สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลี ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นดังนี้
1. เข้าแทรกแซงกับบริษัท Samsung E&A (Thailand) Co., Ltd. เพื่อเร่งรัดการชำระค่าจ้างที่ค้างชำระให้แก่ผู้รับเหมาช่วงทั้งหมดรวมเป็นเงินกว่า 6,000 ล้านบาท
2. กระตุ้นให้บริษัท Samsung Corporation ใช้อำนาจที่มีในบริษัทสาขาเพื่อให้แน่ใจว่าจะมีการชำระเงินให้แก่ผู้รับเหมาช่วงทุกบริษัทอย่างครบถ้วนและตรงเวลา
3. อำนวยความสะดวกในการสื่อสารระหว่างผู้รับเหมาช่วงที่ได้รับผลกระทบและบริษัท Samsung E&A (Thailand) Co., Ltd. เพื่อแก้ไขปัญหานี้ด้วยวิธีการที่เป็นมิตร
4. กระตุ้นให้บริษัท Samsung E&A (Thailand) Co., Ltd. ทบทวนและแก้ไขข้อกำหนดในสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่สมเหตุสมผลเพื่อให้แก้ไขปัญหาเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและเด็ดขาด
ขณะที่บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ยืนยันว่า ได้อนุมัติการแก้ไขสัญญา EPC โดยให้งบประมาณเพิ่มเติมอีกจำนวน 550 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2562 ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดย ได้ชำระค่าตอบแทนให้ UJV - Samsung, Petrofac และ Saipem อย่างครบถ้วนตามงวดงานของสัญญา EPC และได้พยายามผลักดันให้ UJV - Samsung, Petrofac และ Saipem ชำระค่าตอบแทนค้างจ่ายให้กับผู้รับเหมาช่วง โดยได้ส่งหนังสือสอบถาม UJV - Samsung, Petrofac และ Saipem และบริษัทแม่ของ UJV - Samsung, Petrofac และ Saipem เกี่ยวกับมาตรการในการจัดการดูแลบริษัทผู้รับเหมาช่วงที่ยังไม่ได้รับชำระค่าจ้าง รวมถึงแผนชำระค่าตอบแทนค้างจ่ายมาโดยตลอด
อย่างไรก็ตามไทยออยล์ ไม่ได้เป็นคู่สัญญาในสัญญารับเหมาช่วง ดังนั้นหน้าที่ในการชำระค่าตอบแทนตามสัญญารับเหมาช่วงดังกล่าวเป็นหน้าที่ของ UJV - Samsung, Petrofac และ Saipem ที่จะต้องรับผิดชอบโดยตรง ซึ่งไทยออยล์และผู้รับเหมาช่วง ต่างเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการไม่ทำตามสัญญาของ UJV – Samsung, Petrofac และ Saipem ดังนั้นการเร่งบริหารจัดการโครงการ CFP จึงเป็นเป้าหมายหลักและเร่งด่วน ที่ไทยออยล์มุ่งมั่นในการดำเนินการก่อสร้างโครงการ CFP ให้แล้วเสร็จโดยเร็วโดยไม่ได้ทำให้โครงการ CFP จะต้องเลื่อนเปิดดำเนินการออกไปอย่างไม่มีกำหนด
23 ธ.ค. 2567
2 ม.ค. 2568
8 ม.ค. 2568
10 ม.ค. 2568