การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

Last updated: 4 เม.ย 2568  |  102 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

เดินหน้าเต็มกำลัง กฟผ. - มูลนิธินายช่างไทย ใจอาสา กระจายกำลังวิศวกรและช่างอาสาลงพื้นที่ตรวจสอบอาคารโรงเรียน สพฐ. หลังเหตุแผ่นดินไหว

กฟผ. - มูลนิธินายช่างไทย ใจอาสา ปล่อยขบวนคาราวานทีมวิศวกรและช่างอาสา กว่า 200 ชีวิต กระจายกำลังตรวจสอบโครงสร้างอาคารโรงเรียนสังกัด สพฐ. ในพื้นที่ 6 จังหวัด กว่า 60 โรงเรียนที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว พร้อมเตรียมขยายผลไปยังโรงพยาบาลหรือสถานที่สาธารณะ ที่ขอรับการสนับสนุนผ่านทางมูลนิธิ ฯ ต่อไป

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มูลนิธินายช่างไทย ใจอาสา และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปล่อยขบวนคาราวานวิศวกรและช่างอาสา กฟผ. กว่า 20 คัน เข้าพื้นที่ตรวจสอบโครงสร้างอาคารของโรงเรียนภายใต้สังกัด สพฐ. ที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวศูนย์กลางประเทศเมียนมา พร้อมกระจายทีมลงพื้นที่ตรวจสอบ 6 จังหวัด ระหว่างวันที่ 4 - 5 เมษายน 2568 โดยมีนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. ในฐานะประธานมูลนิธินายช่างไทย ใจอาสา นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ สพฐ. นางวรางคณา ไชยเรือน ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ สพฐ. และคณะผู้บริหาร ร่วมปล่อยขบวนรถจิตอาสาจากสำนักงานใหญ่ กฟผ. จ.นนทบุรี

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. ในฐานะประธานมูลนิธินายช่างไทย ใจอาสา เผยว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ส่งผลให้อาคารบ้านเรือนในหลายพื้นที่ของไทยได้รับความเสียหาย รวมทั้งโรงเรียนภายใต้สังกัด สพฐ. ซึ่งเป็นช่วงการสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และปีที่ 4 หากจัดการสอบล่าช้าจะส่งผลกระทบต่อนักเรียนและผู้ปกครอง กฟผ. มูลนิธินายช่างไทย ใจอาสา จัดทีมวิศวกรและช่างอาสากว่า 200 คน ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงสร้างและประเมินความเสียหายอาคารเรียนในสังกัด สพฐ. กว่า 60 โรงเรียน ครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม ระหว่างวันที่ 4 - 5 เมษายน 2568 เพื่อทำการฟื้นฟูอาคารต่อไป โดยแบ่งระดับความเสียหายของอาคารเป็น 3 ระดับ คือ ระดับ 1 ไม่เสียหายหรือเสียหายเล็กน้อย ระดับ 2 เสียหายปานกลาง สามารถใช้งานอาคารได้บางส่วนหรือทั้งหมด และระดับ 3 เสียหายรุนแรง อาคารอาจพังถล่มได้ สำหรับทีมวิศวกรและช่างอาสาที่จะเข้าตรวจสอบอาคารโรงเรียนสังกัด สพฐ. ใช้วิธีการตรวจสอบแบบพินิจทางกายภาพ (Visual Inspection) และเครื่องมือตรวจสอบที่น่าเชื่อถือ ร่วมกับการ Checklist ตามจุดต่าง ๆ ของอาคาร เช่น เสา คาน ผิวผนังทั้งภายใน-ภายนอก กระจก ลิฟต์ สายไฟฟ้าและระบบไฟฟ้า ฯลฯ

ทั้งนี้ โรงเรียนในสังกัด สพฐ. ที่ได้รับความเสียหายและต้องได้รับการตรวจสอบโครงสร้างอาคารในเบื้องต้น ประกอบด้วย พื้นที่กรุงเทพมหานคร อาทิ โรงเรียนโยธินบูรณะ โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ จ.นนทบุรี อาทิ โรงเรียนบดินเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) นนทบุรี โรงเรียนวัดลากค้อน จ.ปทุมธานี อาทิ โรงเรียนลำสนุ่น โรงเรียนหนองเสือวิทยาคม จ.สมุทรปราการ อาทิ โรงเรียนวิสุทธิกษัตรี โรงเรียนคลองมหาวงก์ จ.สมุทรสาคร อาทิ โรงเรียนวัดบ้านไร่ โรงเรียนวัดธรรมเจดีย์ศรีพิพัฒน์ และ จ.นครปฐม อาทิ โรงเรียนวัดห้วยตะโก โรงเรียนบุณยศรีสวัสดิ์

ที่ผ่านมา กฟผ. และมูลนิธินายช่างไทย ใจอาสา ได้จัดอบรมแนวทางการตรวจสอบอาคาร หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว ให้กับทีมวิศวกรและช่างอาสา เตรียมพร้อมก่อนลงพื้นที่ตรวจสอบโรงรียนในสังกัด สพฐ. เพื่อให้มีความเข้าใจ และสามารถตรวจสอบสภาพอาคารได้อย่างถูกต้อง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้