Last updated: 24 เม.ย 2568 | 65 จำนวนผู้เข้าชม |
พพ. ชี้แจงความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำคลองลำขนุน จ.ตรัง เตรียมจ่ายไฟเข้าระบบ พ.ค. 68
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ชี้แจงความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำชุมชนคลองลำขนุน ตำบลนาชุมเห็ด อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง ซึ่งอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ภายในเดือนพฤษภาคม 2568 หลังจากดำเนินงานตามขั้นตอนทางกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน
นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เปิดเผยว่าตามที่มีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับสถานะของโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำชุมชนคลองลำขนุน ตำบลนาชุมเห็ด อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง ซึ่งดำเนินการก่อสร้างเสร็จตั้งแต่ปี 2556 แต่ยังไม่สามารถจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ได้ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้
โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำคลองลำขนุน จัดตั้งขึ้นภายใต้แผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี (พ.ศ. 2551–2565) เพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมส่งเสริมบทบาทของชุมชนในการบริหารจัดการพลังงานอย่างยั่งยืน มีขนาดกำลังผลิต 88 กิโลวัตต์ ใช้งบประมาณก่อสร้าง 20,814,826 บาท จากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และสามารถผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 462,500 หน่วย คิดเป็นรายได้ปีละกว่า 1.15 ล้านบาท ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 268.81 ตันต่อปี โดยไม่กระทบต่อการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคของประชาชนในพื้นที่
โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ กุมภาพันธ์ 2556 และเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2557 พพ.ได้ส่งมอบครุภัณฑ์ให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลนาชุมเห็ดร่วมกับชุมชนในพื้นที่เป็นผู้บริหารจัดการโรงไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 องค์การบริหารส่วนตำบลนาชุมเห็ด ได้ส่งมอบโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำชุมชน โครงการคลองลำขนุน ให้แก่ พพ. เนื่องจากคณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยว่า องค์การบริหารส่วนตำบล มีหน้าที่เพื่อดำเนินการจัดให้มีการบำรุงไฟฟ้าเป็นการบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเองเท่านั้น ซึ่งไม่รวมถึงกระบวนการผลิตและจำหน่าย
พพ.จึงนำกลับมาดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อขออนุญาตและจัดทำสัญญาจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งได้ขอมติจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2564 จากนั้นได้ปรับปรุงระบบป้องกันไฟฟ้าให้เป็นไปตามมาตรฐาน Grid Code ปี 2559 แล้วเสร็จต้นปี 2566 และทำการติดตั้งมิเตอร์ซื้อ-ขาย ซ่อมแซมระบบควบคุมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2568
ปัจจุบัน โครงการอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเพื่อทดสอบการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าครั้งแรก (First Synchronization) และคาดว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ได้ภายใน เดือนพฤษภาคม 2568 ภายหลังการทดสอบ Trial Run และการแก้ไขสัญญาร่วมกับ กฟภ.
“พพ.ตระหนักว่าจากระยะเวลาการดำเนินโครงการที่ผ่านมา อาจทำให้ชุมชนรู้สึกถึงการขาดโอกาสในการเข้าถึงประโยชน์ของโรงไฟฟ้า พพ.ขอชี้แจงว่าการดำเนินงานเป็นไปตามขั้นตอนที่ต้องสอดคล้องกับกฎหมายและระเบียบของหลายหน่วยงาน ซึ่งได้ดำเนินการมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่องและโปร่งใส และ พพ. มีแผนผลักดันให้เกิดประโยชน์กลับคืนสู่ชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการถ่ายทอดองค์ความรู้ การมีส่วนร่วมของประชาชนในระบบพลังงาน รวมถึงการจ้างงานในพื้นที่เพื่อดูแลระบบโรงไฟฟ้า เสริมสร้างรายได้และความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่นในระยะยาว” นางสาวนันธิกากล่าว
24 เม.ย 2568
24 เม.ย 2568
24 เม.ย 2568
24 เม.ย 2568