Last updated: 26 เม.ย 2563 | 1682 จำนวนผู้เข้าชม |
วิกฤตขยะพลาสติก!
มหาอำนาจโลกธุรกิจจะปรับตัวอย่างไร?
คนทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับผลของการใช้พลาสติกอย่างไม่คิดมาเป็นเวลานาน เริ่มมีการต่อต้านการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง รวมไปถึงการขับเคลื่อนเพื่อการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน รัฐบาลเองก็ไม่ได้นิ่งเฉย: กว่า 50 ประเทศทั่วโลกได้ลงนามร่วมแคมเปญ UN Environment Clean Sea ของสหประชาชาติเพื่อทำความสะอาดมหาสมุทร ซึ่งเป็นการร่วมมือระดับโลกที่ใหญ่ที่สุดเพื่อรับมือปัญหาขยะล้นทะเล
ภาคธุรกิจเองก็ไม่สามารถเพิกเฉยต่อการเรียกร้องของสาธารณะชนได้เช่นกัน หลายอุตสาหกรรมเริ่มสร้างแผนยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง หันมาผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ทำมาจากพลาสติกรีไซเคิลมากขึ้น และทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาระบบรีไซเคิลให้มีประสิทธิภาพ
การกดดันครั้งนี้ไม่ได้มาจากผู้บริโภคฝ่ายเดียว เมื่อเดือนมิถุนายนสำนักข่าว Bloomberg ได้รายงานว่า กลุ่มนักลงทุน 25 คนที่ถือทรัพย์สินรวมกันทั้งหมดกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ได้เรียกร้องให้บริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น Nestle´, PepsiCo, Procter & Gamble และ Unilever ลดการใช้พลาสติกในบรรจุภัณฑ์ การเรียกร้องครั้งนี้ได้รับความสนับสนุนจากองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร As You Sow ที่ขอให้บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้เปิดเผยข้อมูลปริมาณบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ในแต่ละปี ตั้งเป้าปริมาณที่จะต้องลด รวมทั้งสนับสนุนการรีไซเคิล และการเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์จากวัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ รีไซเคิลง่าย และย่อยสลายได้ตามธรรมชาติให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
นี่คือเรื่องฉุกเฉินที่เราไม่อาจเบือนหน้าหนีได้อีกต่อไป : มนุษย์ได้ผลิตพลาสติกปริมาณกว่า 8.3 พันล้านตันมาใช้ตั้งแต่ทศวรรษ 1950 และคาดว่าตัวเลขจะพุ่งถึง 34 พันล้านตันภายในปี 2050 นอกจากนี้ยังมีการพยากรณ์ว่าการผลิตพลาสติกจะเพิ่มขึ้นถึง 40% ในอีก 10 ปีข้างหน้า เนื่องจากมีบริษัทพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อสร้างโรงงานผลิตพลาสติกรุ่นใหม่ในประเทศสหรัฐอเมริกา
บริษัทที่ใช้พลาสติกมีบทบาทสำคัญในการหยุดวงจรแห่งความไม่ยั่งยืนทางธรรมชาตินี้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภคที่ตระหนักดีว่าลูกค้าต่างยืนกรานและต่อต้านบริษัทที่ไม่ตอบสนองต่อคำร้องขอให้หยุดใช้พลาสติก
ด้วยเหตุผลของคนทำธุรกิจที่ไม่สามารถนิ่งเฉยได้ ความหวังในการลดปริมาณพลาสติกครั้งนี้ได้จุดประกายให้เกิดนวัตกรรมและโอกาสใหม่ๆขึ้นมากมาย ไมว่าจะเป็นบริษัทเล็กหรือใหญ่ต่างเร่งสร้างความเปลี่ยนแปลง ตัวอย่างก็เช่น :
ในเดือนเมษายน บริษัทอาหารยักษ์ใหญ่สายเลือดสวิสอย่าง Nestle´ ให้คำสัญญาว่า ภายในปี 2025 บรรจุภัณฑ์พลาสติก 100% จะสามารถรีไซเคิลและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ รวมทั้งต้องการส่งเสริมการใช้พลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้ดีกว่าเดิม พร้อมทั้งกำจัดหรือปรับเปลี่ยนโครงสร้างของพลาสติกในจุดที่เคยเป็นปัญหาทำให้การรีไซเคิลเป็นเรื่องยาก
ส่วนคู่แข่งอย่าง Unilever ก็ออกมาให้คำมั่นว่าจะทำบรรจุภัณฑ์พลาสติกของบริษัทให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ รีไซเคิลได้ หรือย่อยสลายเองได้ตามธรรมชาติภายในปี 2025 เช่นกัน นอกจากนี้ยังร่วมสนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจพลาสติกใหม่ (New Plastic Economy) ของมูลนิธิ Ellen MacArthur Foundation ที่เรียกร้องให้มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับวัสดุพลาสติกที่ใช้อย่างละเอียดภายในปี 2020 เพื่อช่วยสร้างกฎระเบียบที่เป็นมาตรฐานให้แก่อุตสาหกรรม
เมื่อวันสิ่งแวดล้อมโลกที่ผ่านมา Volvo ได้กล่าวว่า ภายในปี 2025 25% ของพลาสติกที่ใช้ในการผลิตรถใหม่จะมาจากวัสดุรีไซเคิล
เจ้าพ่อตลาดเครื่องดื่มอย่าง Coca-Cola ที่ขึ้นชื่อว่าใช้ขวดพลาสติกถึง 120 พันล้านขวดต่อปี ได้ออกแคมเปญ World Without Waste เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยบอกว่าภายในปี 2030 ทุกๆน้ำอัดลมขวดใหม่ที่ขายได้ บริษัทจะทำการรีไซเคิลขวดและกระป๋องเก่าในปริมาณที่เท่ากัน และในตอนนี้บริษัทกำลังเร่งทดลองเทคนิคต่างๆมากมายเพื่อใช้ในการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ และพร้อมที่จะสนับสนุนความพยายามในการรักษาธรรมชาติทั้งของภาครัฐและอุตสาหกรรมอีกด้วย
McDonald´s ก็ออกมาแถลงว่าจะใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำมาจากวัสดุทดแทนและวัสดุรีไซเคิลภายในปี 2025
บริษัท Dell ตั้งเป้าว่าจะทำบรรจุภัณฑ์ 100% ให้กลายเป็นเเบบไร้ขยะ (Waste-free) ภายในปี 2020 โดยใช้วัสดุจากแหล่งธรรมชาติที่ยั่งยืน ซึ่งในตอนนี้บริษัทมีการใช้พลาสติกที่ถูกรีไซเคิลมาจากขยะในมหาสมุทร รวมไปถึงวัสดุธรรมชาติที่ยั่งยืน เช่น ไม้ไผ่ โดยอยากให้บรรจุภัณฑ์เหล่านี้สะดวกต่อการย่อยสลายด้วยตัวเองที่บ้าน หรือเข้ากับเฟอร์นิเจอร์ในบ้านของผู้ใช้
บริษัท Danone เจ้าของน้ำดื่ม Evian กล่าวว่าจะผลิตขวดน้ำทั้งหมดจากพลาสติกรีไซเคิลภายในปี 2025
ซุปเปอร์มาร์เก็ต Iceland ของประเทศอังกฤษเองก็ให้สัญญาว่าจะเลิกใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับสินค้าในแบรนด์ตัวเองภายในสิ้นปี 2023
บริษัท Procter & Gamble ผู้ผลิตแชมพู Head & Shoulders ได้ผลิตขวดแชมพูรีไซเคิลสำเร็จเป็นรายแรก โดยขวดนั้นทำมาจาก 25% ของขยะบนชายหาดที่เก็บได้เมื่อปีที่แล้ว และให้คำมั่นสัญญาว่าบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดของบริษัทจะสามารถนำไปรีไซเคิลและกลับมาใช้ใหม่ได้ภายในปี 2030 นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอื่นๆในเครือเช่น Fairy ก็ได้ผลิตขวดพลาสติกรูปแบบใหม่ที่ทำมาจากพลาสติกรีไซเคิล 100% ซึ่ง 10% ในนั้นเป็นขยะพลาสติกในมหาสมุทร โดยได้ร่วมมือพัฒนาขึ้นมากับบริษัท TerraCycle
IKEA ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์สัญชาติสวีดิชก็ออกมาประกาศว่าจะค่อยๆลดปริมาณสินค้าจำพวกพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งให้หมดไปจากร้านค้าและร้านอาหารของตัวเองภายในปี 2020 นอกจากนี้ยังยืนยันว่าจะเลิกใช้พลาสติกที่ผลิตมาจากน้ำมัน (Oil-based plastic) และตรวจสอบให้แน่ใจว่าสินค้าพลาสติกทั้งหมดนั้นทำมาจากวัสดุรีไซเคิล
ส่วนในประเทศอังกฤษ ได้กำเนิดความร่วมมือเฉพาะกิจชื่อว่า UK Plastic Pact เพื่อเผยแพร่และสร้างความตระหนักถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ มีการลงนามร่วมมือจากกว่า 60 บริษัทธุรกิจ รวมไปถึง Coca-Cola, Pepsi, P&G, Unilever และ Nestle´มีเป้าหมายที่จะกำจัดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งที่ไม่มีความจำเป็นและสร้างปัญหาให้แก่ธรรมชาติอยู่ในตอนนี้ ผ่านการออกแบบใหม่ นวัตกรรมเทคโนโลยี หรือทางเลือกอื่นๆเพื่อให้ 70% ของบรรจุภัณฑ์พลาสติกนั้นสามารถรีไซเคิลหรือย่อยสลายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
WRAP องค์กรเพื่อความยั่งยืนทางธรรมชาติทำงานร่วมกับมูลนิธิ Ellen McArthur Foundation ได้เสนอข้อสัญญาด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยหวังว่าจะก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวและก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบต่อการใช้พลาสติกของเราในปัจจุบัน
“ข้อสัญญานี้เกี่ยวข้องกับการทำบรรจุภัณฑ์ให้เรียบง่ายขึ้น ออกแบบให้ใช้งานได้นานตลอดชีวิต และลดปริมาณพลาสติกที่ไม่จำเป็น” ปีเตอร์ สเกลตัน (Peter Skelton) ผู้นำข้อสัญญาบทนี้ของ WRAP
“นอกจากนี้ยังเกี่ยวกับการทำให้มั่นใจว่าวัสดุพลาสติกนั้นได้ถูกหมุนเวียนนำกลับมาใช้ในวงจรเศรษฐกิจ ทดแทนการผลิตพลาสติกใหม่ และยับยั้งไม่ให้พลาสติกเหล่านี้ลงไปสู่มหาสมุทร ข้อสัญญานี้ไม่ได้เกี่ยวกับการรีไซเคิลอย่างเดียวเท่านั้น เพราะนั่นคือการแก้ปัญหาระยะสั้น แต่เราต้องการโมเดลธุรกิจที่ใหม่และชัดเจน”
คุณสเกลตันย้ำว่า WRAP นั้นมุ่งมั่นที่จะเฝ้าดูความคืบหน้าของข้อสัญญานี้
นักเคลื่อนไหวทางสังคมหลายคนได้ออกมาโต้แย้งว่าการรีไซเคิลที่ผ่านมานั้นเป็นเพียงการขอความร่วมมือ จึงต้องมีการออกกฎหมายเพื่อบังคับให้เหล่าบริษัทธุรกิจใช้พลาสติกอย่างยั่งยืน โดยคุณสเกลตันได้พูดถึงจุดนี้ว่า การออกกฎหมายบบังคับใช้เป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญก็จริง และการสนับสนุนจากภาครัฐก็เป็นเครื่องมือที่ทรงพลัง แต่นั่นไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ดีที่สุด
“เราเห็นหลายคนโยนคำถามให้แก่เหล่าบริษัทธุรกิจว่ามีนโยบายอย่างไรในการใช้พลาสติก ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ก็ให้การตอบรับที่ดี บริษัทเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจากการเลิกใช้วัตถุดิบโพลีเมอร์ราคาถูกและรีไซเคิลยากในการผลิตพลาสติก เช่น พีวีซี หรือพอลิสไตรีน ทำให้พวกเขาอยู่ภายใต้ความกดดันที่สูงมาก ไม่ว่าจะจากผู้มีส่วนได้เสีย ผู้ถือหุ้น ผู้บริโภค และองค์กร NGO มากมาย จนทำให้พวกเขาอยากรู้แค่ว่าจริงๆแล้ววิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคืออะไร พวกเขาไม่ต้องการความกดดันเพิ่มเติมจากกฎหมาย เพราะเขารู้อยู่แล้วว่าเรื่องพลาสติกคือภัยคุกคามแก่บริษัท”
อีกทางหนึ่งที่รัฐบาลสามารถช่วยกระตุ้นการตระหนักในหมู่องค์กรธุรกิจได้ก็คือ การมอบแรงจูงใจทางด้านการเงิน (Financial Incentives) ให้แก่บริษัทที่ทำการค้นคว้าหาทางเลือกอื่นแทนการใช้พลาสติก ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษี ทุนวิจัยและพัฒนา การคิดค้นเทคโนโลยี การร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน การส่งเสริมโครงการต่างๆที่เกี่ยวกับการรีไซเคิลพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งและการนำขยะกลับมาเป็นวัตถุดิบใหม่อีกครั้ง หรืออะไรก็ได้ที่จะกระตุ้นธุรกิจเหล่านี้ให้คิดหานวัตกรรมใหม่ๆ
ในรายงานล่าสุดของสหประชาชาติ (UN) ได้มีการตรวจสอบศักยภาพในการทดแทนพลาสติกรูปแบบเดิมๆด้วยวัสดุธรรมชาติที่หลากหลาย เช่น กระดาษ ฝ้าย ไม้ สาหร่าย เห็ด หรือจะเป็นการใช้เทคโนโลยีทางเลือก เช่น โพลิเมอร์ชีวภาพ (Bio-polymer) รุ่นใหม่ที่ทำมาจากชีวมวล (Biomass) นอกจากนี้ยังให้ความสนใจไปที่บริษัทมากมาย ไม่ว่าจะเป็นบริษัทข้ามชาติหรือสตาร์ทอัพขนาดเล็กที่กำลังคิดค้นนวัตกรรมด้านนี้อยู่
ยกตัวอย่างเช่น บริษัทหนึ่งในนิวยอร์คได้พัฒนาบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้จากขยะ วัสดุอินทรีย์ และเส้นใยเห็ด บรรจุภัณฑ์สามารถปรับเปลี่ยนรูปร่างได้ตามการออกแบบ ได้ถูกใช้บรรจุและส่งสินค้ามูลค่าสูงมาแล้วมากมาย รวมไปถึงคอมพิวเตอร์ของ Dell ด้วย
รายงานของสหประชาชาติฉบับนี้ได้ให้ข้อสรุปว่า บริษัทต่างๆต้องใส่หัวข้อเกี่ยวกับความยั่งยืนเข้าไปในโมเดลธุรกิจด้วย บางครั้งอาจใช้การร่วมมือกับชุมชนในพื้นที่เพื่อหาวัสดุทางเลือกจากพืชและสัตว์ที่จะมาทดแทนการใช้พลาสติกได้ เพราะทั้งนวัตกรรมเพื่อรักษาธรรมชาติและการประกอบธุรกิจต่างอยู่ในขั้นวิกฤติพอกัน
แน่นอนว่านี่คือโอกาสทองที่บริษัทชั้นนำของโลกสามารถใช้เพื่อให้ขึ้นไปอยู่เหนือคู่แข่ง ความท้าทายบทใหม่ได้เกิดขึ้นแล้ว ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าธุรกิจไหนจะกล้ารับคำท้า เพราะการเดิมพันครั้งนี้มีความเสี่ยงสูงต่อทุกคนบนโลก
“หากเราไม่พัฒนาระบบให้ดีขึ้นภายใน 2 – 3 ปีนี้ จะมีผลร้ายใหญ่หลวงตามมา เช่น ผู้คนย้ายถิ่นฐานเพื่อหนีให้ไกลจากพลาสติก” คุณสเกลตันกล่าว
“เราต้องพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส เราต้องกระตุ้นความสนใจและความกระตือรือร้นที่จะลงมือเปลี่ยนแปลง”
ที่มา : https://www.unenvironment.org/
10 ส.ค. 2566
21 พ.ค. 2564
11 ต.ค. 2564
4 พ.ค. 2564