Last updated: 26 เม.ย 2563 | 879 จำนวนผู้เข้าชม |
บอร์ด GPSC อนุมัติลงทุนโรงไฟฟ้า 250 MW ให้โครงการ CFP
คณะกรรมการ GPSC ไฟเขียวลงทุน 757 ล้านเหรียญสหรัฐ ในหน่วยผลิตไฟฟ้า (ERU) 250 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 175 ตันต่อชั่วโมง ให้กับโครงการ CFP ของ ไทยออยล์ ผ่านบริษัทย่อย คาดก่อสร้างแล้วเสร็จไตรมาส 3 ปี 2566
นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2562 คณะกรรมการ GPSC ได้มีมติเห็นชอบแผนการลงทุนในหน่วยผลิตไฟฟ้า (Energy Recovery Unit : ERU) ซึ่งมีกำลังผลิตไฟฟ้า 250 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 175 ตันต่อชั่วโมง ให้กับโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project : CFP) ของ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) มูลค่าลงทุน 757 ล้านเหรียญสหรัฐ
โดยโครงการ CFP ของไทยออยล์ มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน ด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มคุณค่าผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และขยายกำลังการกลั่นน้ำมันเป็นระดับ 4 แสนบาร์เรล/วัน และในโครงการนี้จะต้องมีการก่อสร้าง ERU ซึ่งเป็นหน่วยผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ โดยจะใช้กากน้ำมันที่เป็นผลิตภัณฑ์พลอยได้ของโครงการ CFP เป็นเชื้อเพลิงในการผลิต เพื่อลดภาระการลงทุนโครงการ CFP ไทยออยล์จึงจัดหาผู้ลงทุนแทนการลงทุนจัดสร้างเองทั้งหมด ซึ่งได้เลือกให้ GPSC เป็นผู้ลงทุนโครงการ ERU นี้
สำหรับการพัฒนาหน่วยผลิตไฟฟ้าหรือ ERU ดังกล่าว GPSC จะดำเนินการผ่านบริษัทย่อยที่ GPSC ถือหุ้น 100% ส่วนพื้นที่ตั้ง ERU จะเป็นสัญญาเช่าช่วงจากไทยออยล์และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างหลังมีการลงนามในสัญญา โดยก่อสร้างจะใช้ระยะเวลาทั้งสิ้นประมาณ 58 เดือน หรือคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณไตรมาสที่ 3 ของปี 2566
ซึ่งแผนลงทุนครั้งนี้ เป็นไปตามแผนกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ในการเติบโตไปพร้อมกับกลุ่ม ปตท. สร้างโอกาสการต่อยอดธุรกิจการผลิตไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงแตกต่างไปจากเดิม เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางพลังงานในอนาคต
แผนการลงทุนครั้งนี้จะทำให้ GPSC มีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นรวมทั้งสิ้น 1,955 เมกะวัตต์ ไอน้ำรวมประมาณ 1,585 ตันต่อชั่วโมง ซึ่งในปี 2562 GPSC มีแผนเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ (COD) ประกอบด้วย โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว ได้แก่ โรงไฟฟ้าน้ำลิก 1 (NL1PC) กำลังการผลิต 65 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าไซยะบุรี (XPCL) กำลังการผลิต 1,285 เมกะวัตต์ โรงผลิตสาธารณูปการระยอง แห่งที่ 4 กำลังการผลิต 45 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 70 ตันต่อชั่วโมง และโรงผลิตสาธารณูปโภค 3 (CUP-3) ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) โรงไฟฟ้าประเภทพลังงานระบบโคเจนเนอเรชั่น กำลังการผลิต 15 เมกะวัตต์
สำหรับปี 2563 มีโครงการส่วนต่อขยายของโรงไฟฟ้านวนคร (NNEG) กำลังการผลิต 60 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 10 ตันต่อชั่วโมง ขณะนี้ทุกโครงการมีความคืบหน้าในการพัฒนา และมั่นใจว่าดำเนินงานได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
21 ธ.ค. 2567
20 ธ.ค. 2567
20 ธ.ค. 2567
21 ธ.ค. 2567