กพช. อนุมัติแผนพีดีพี 2018

Last updated: 26 เม.ย 2563  |  715 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กพช. อนุมัติแผนพีดีพี 2018

กพช. อนุมัติแผนพีดีพี 2018

กพช. เห็นชอบแผนพีดีพี 2018 คาดจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าปี 2580 ถึง 77,211 เมกะวัตต์ พร้อมส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพประหยัดการสร้างโรงไฟฟ้าไปได้ถึง 4,000 เมกะวัตต์ พร้อมทั้งต่ออายุสัญญาโรงไฟฟ้า SPP 25 โรง

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP 2018) มีสาระสำคัญ คือ ภาพรวมของกำลังการผลิตไฟฟ้าในช่วงปี 2561-2580 จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 77,211 เมกะวัตต์ ในปี 2580 จากปี 2560 มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 46,090 เมกะวัตต์ ซึ่งจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ 56,431 เมกะวัตต์ และจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่จะถูกปลดออกจากระบบ 25,310 เมกะวัตต์

สำหรับกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ในช่วงปี 2561-2580 จะแยกตามประเภทโรงไฟฟ้า ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 20,766 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำสูบกลับ 500 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชั่น 2,112 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าความร้อนร่วม 13,156 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน/ลิกไนต์ 1,740 เมกะวัตต์ รับซื้อจากต่างประเทศ 5,857 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าใหม่/ทดแทน (IPP) 8,300 เมกะวัตต์ และแผนอนุรักษ์พลังงาน 4,000 เมกะวัตต์

โดยในส่วนของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนตามแผนพัฒนาพลังงานหมุนเวียน (AEDP) จะกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ 18,176 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย ชีวมวล 3,376 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ 546 เมกะวัตต์ พลังงานแสงอาทิตย์ 10,000 เมกะวัตต์ พลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 2,725 เมกะวัตต์ พลังงานลม 1,485 เมกะวัตต์ ขยะอุตสาหกรรม 44 เมกะวัตต์ และยังมีโรงไฟฟ้าตามนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าขยะ 400 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐ 120 เมกะวัตต์ รวม 520 เมกะวัตต์ รวมอยู่ในส่วนนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และโรงไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชั่นทั้งหมด ได้รวมโครงการที่ได้มีการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับภาครัฐไว้แล้ว

สำหรับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าแยกตามประเภทเชื้อเพลิง ณ ปี 2580 ก๊าซธรรมชาติ 53% พลังน้ำต่างประเทศ 9% พลังงานหมุนเวียน 20% การอนุรักษ์พลังงาน 6% ถ่านหิน 12% การปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จะสอดคล้องกับข้อตกลงของ COP 21 ณ ปี 2580 เท่ากับ 0.283 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง (kgCO2/kWh) หรือ 103,845 พันตัน

โดยมีการประมาณการค่าไฟฟ้าขายปลีกในช่วงปี 2561-2580 อยู่ระหว่าง 3.50-3.63 บาทต่อหน่วย หรือเฉลี่ย 3.58 บาทต่อหน่วย

ทั้งนี้ แผนพีดีพี 2018 ได้มีการทบทวนสถานการณ์กำลังผลิตไฟฟ้าในปัจจุบัน และได้จัดทำการพยากรณ์ค่าความต้องการใช้ไฟฟ้าระยะยาว 20 ปี ประกอบด้วย ความต้องการใช้ไฟฟ้าของระบบ 3 การไฟฟ้า และความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มาจากการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองหรือขายตรง (Independent Power Supply: IPS) ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค ได้สะท้อนแนวนโยบายของรัฐบาลและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของแผนปฏิรูปด้านพลังงาน และได้รับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนแล้ว

ซึ่งจะมีการทบทวนใหม่ทุก 5 ปี หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายของแผนอย่างมีนัยสำคัญ โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไปดูแลความมั่นคงของระบบไฟฟ้า การเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาค การเชื่อมโยงกับระบบจำหน่าย เพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียนในอนาคต และมอบหมายให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาแนวทางการจัดหาโรงไฟฟ้าให้เป็นไปตามแผน PDP 2018 ในหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับซื้อไฟฟ้า ระยะเวลา พื้นที่ ปริมาณและราคารับซื้อไฟฟ้า เทคโนโลยีและเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า รวมถึงประเด็นอื่นๆ โดยคำนึงถึงความมั่นคงของระบบไฟฟ้าภาคตะวันตก และภาคใต้ ความพร้อมและการยอมรับชนิดของเชื้อเพลิงในด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ยังได้มอบหมายให้ กฟผ. ศึกษาและจัดทำแผนการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าของประเทศเพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้า เพิ่มประสิทธิภาพ เป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้า (Grid connection) ในภูมิภาค รวมถึงการเชื่อมโยงกับระบบจำหน่าย เพื่อให้สามารถรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียนในอนาคต (Grid Modernization)

รวมทั้งมอบหมายให้ กบง. และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณาแนวทางการดำเนินการโครงการพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์ภาคประชาชน ปีละ 100 เมกะวัตต์ 10 ปี ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ

นอกจากนี้ กพช. ยังเห็นชอบให้ SPP ระบบ Cogeneration ที่จะสิ้นสุดอายุสัญญาในปี 2559-2568 จำนวน 25 ราย ได้รับการต่ออายุสัญญาหรือก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ โดยให้ใช้เชื้อเพลิงตามสัญญาเดิมและได้รับอัตรารับซื้อไฟฟ้าสอดคล้องกับประเภทเชื้อเพลิง และมอบ กกพ. พิจารณาต่ออายุสัญญาโรงไฟฟ้าภายใต้หลักการตามมติ กพช. ดังกล่าว สำหรับโรงไฟฟ้าที่กำลังจะสิ้นสุดอายุสัญญาในปี 2562-2564 และไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ได้ทัน เพื่อให้สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ได้

สำหรับ SPP จำนวน 25 ราย จะมีการใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน 5 ราย และ 20 รายเป็นก๊าซธรรมชาติ ประกอบด้วย 1.บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) โครงการ 1 2.บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) โครงการ 2 3.บริษัท ทีพีที ปิโตรเคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) 4.บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) 5.กรมการพลังงานทหาร 6.บริษัท กัลฟ์ โคเจนเนอเรชั่น จำกัด 7.บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 1 จำกัด 8.บริษัท บางกอก โคเจนเนอเรชั่น จำกัด 9.บริษัท สมุทรปราการ โคเจนเนอเรชั่น จำกัด 10.บริษัท โกลว์ เอสพีพี 1 จำกัด โครงการ 1 11.บริษัท โกลว์ เอสพีพี 1 จำกัด โครงการ 2 12.บริษัท หนองแค โคเจนเนอเรชั่น จำกัด 13.บริษัท โซม์ ดาร์บี้ เพาเวอร์ จำกัด 14.บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 2 จำกัด 15.บริษัท ไทยออยล์ เพาเวอร์ จำกัด 16.บริษัท เอ็กโก โคเจนเนอเรชั่น จำกัด 17.บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) โครงการ 1 18.บริษัท โกลว์ เอสพีพี 2 จำกัด โครงการ 1 19.บริษัท สหโคเจน (ชลบุรี) จำกัด (มหาชน) 20.บริษัท โกลว์ เอสพีพี 2 จำกัด โครงการ 2 21.บริษัท โรจนะเพาเวอร์ จำกัด โครงการ 1 22.บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) โครงการ 2 23.บริษัท โกลว์ เอสพีพี 3 จำกัด โครงการ 1 24.บริษัท โกลว์ เอสพีพี 3 จำกัด โครงการ 2 และ 25.บริษัท โกลว์ เอสพีพี 11 จำกัด

ทั้งนี้ การต่ออายุสัญญาหรือให้สร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2559 เห็นชอบแนวทางสนับสนุน SPP แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ที่จะสิ้นสุดอายุสัญญาภายในปี 2560-2561 จะต่ออายุสัญญาระยะเวลาสัญญา 3 ปี ปริมาณรับซื้อไม่เกิน 60 เมกะวัตต์ และไม่เกินกว่าปริมาณขายไฟฟ้าตามสัญญาเดิม ราคารับซื้อไฟฟ้าในอัตรา 2.3753 บาท/หน่วย ซึ่งในส่วนนี้ กพช.ได้ขยายให้ครอบคลุมไปถึงส่วนที่จะหมดอายุสัญญาตั้งแต่ปี 2559 ด้วย และกลุ่ม 2 ที่จะสิ้นสุดสัญญาภายในปี 2562-2568 ให้ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ โดยรัฐจะรับซื้อไฟไม่เกิน 30 เมกะวัตต์ มีสัญญา 25 ปี และจะต้องไม่เกินกว่าปริมาณขายไฟฟ้าตามสัญญาเดิม ราคารับซื้อไฟฟ้า ในอัตรา 2.8186 บาท/หน่วย

โดยโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะก่อสร้างใหม่ให้พิจารณาอัตรารับซื้อไฟฟ้าใหม่ และขยายระยะเวลาให้เพียงพอต่อการก่อสร้างโรงไฟฟ้า โดยให้ กกพ.ดูในเรื่องนี้

กพช. ยังเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เสนอขอปรับปรุงเงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ FiT สำหรับ SPP ในสถานที่ที่ตั้งโรงไฟฟ้า เป็นกรรมสิทธิ์ของ อปท. รูปแบบพิเศษหรือเอกชนและกพช. เห็นชอบหลักการคิดอัตราค่าไฟฟ้า และหลักการของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการน้ำงึม 1 และโครงการเขื่อนเซเสด ฉบับใหม่มีสาระสำคัญหลัก คือ หลักการคิดอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ที่เป๊นปัจจุบันมีอายุสัญญา 1 ปี และสามารถต่อสัญญาต่อเนื่อง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้