Last updated: 26 เม.ย 2563 | 3629 จำนวนผู้เข้าชม |
ส่อง Smart City ใน Energy 4.0
ในช่วงที่ผ่านมา คำว่า Smart City หรือ “เมืองอัจฉริยะ” เริ่มเป็นที่กล่าวถึงบ่อยขึ้นเรื่อยๆ ในบริบทเกี่ยวกับการพัฒนาเมือง และการพัฒนาประเทศภายใต้นโยบาย Thailand 4.0 ที่เน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม และ Smart City ยังเป็นส่วนหนึ่งในแผน Energy 4.0 ของกระทรวงพลังงานที่รับโครงการนี้มาสานต่อให้เป็นรูปธรรมร่วมกับอีกหลายภาคส่วน
อาจมีคำถามต่อว่า...แล้ว Smart City คืออะไร...และเมืองแบบไหนถึงจะเรียกว่า “สมาร์ท”?
Smart City คือคำเรียกเมืองที่มีการนำเอาเทคโนโลยีมาผสานกับการใช้ชีวิตของประชาชนในเมือง ไม่ว่าจะเป็นด้านการขนส่ง การใช้พลังงาน ระบบการสื่อสาร หรือโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพคล่องตัว และทำให้คุณภาพของการใช้ชีวิตในเมืองนั้นๆ ดีขึ้น ลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม และลดการใช้พลังงานของเมืองลง อีกทั้งยังต้องมีการวางแผนพัฒนาเมืองแบบฉลาดๆ ต่อไปในอนาคต เพราะสังคมจะทวีความซับซ้อนมากขึ้นไปเรื่อยๆ
Smart City เป็นโครงการที่หลายๆ ประเทศทั่วโลก พยายามจะพัฒนาไปให้ถึงสิ่งที่ใกล้เคียงกับคำว่า “เมืองในฝัน” ซึ่งการออกแบบ Smart City นั้นมีได้หลายรูปแบบ แต่ที่สำคัญคือต้องเข้าใจปัญหาและความต้องการของคนในพื้นที่ แล้วร่วมกันออกแบบระบบที่เหมาะสมที่สุดกับคุณสมบัติของเมืองนั้นๆ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและเศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน
การออกแบบ Smart City โดยทั่วไปจะเน้นให้ความสำคัญในสามองค์ประกอบหลัก คือ
1. การพัฒนารูปแบบและโครงสร้างของเมืองที่สอดรับกับแนวคิดของเมืองอัจฉริยะ
2. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม
3. การส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ประกอบกับการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ และข้อมูลมาช่วยในการบริหารจัดการทรัพยากรของเมืองเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ระบบบริหารจัดการเครือข่ายพลังงานอัจฉริยะ ที่เรียกว่า Smart Grid ระบบมิเตอร์อัตโนมัติ ระบบควบคุมการจราจรอัจฉริยะ ระบบควบคุมอาคารอัจฉริยะ และระบบตรวจวัดมลภาวะสร้างฐานข้อมูลที่ใช้ประโยชน์ได้จริง
ถึงแม้ ประเทศไทยจะยังไม่มี Smart City ที่สมบูรณ์เป็นรูปเป็นร่างในปัจจุบัน แต่โครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของเราเริ่มจะมองเห็นภาพร่างในหลายจังหวัด และหลายมหาวิทยาลัย ส่วนหนึ่งด้วยการสนับสนุนของกระทรวงพลังงานซึ่งมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ 4 ด้าน คือ
1. ด้านพลังงานและสาธารณูปโภคพื้นฐาน คือ ส่งเสริมการพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองภายในเมืองอัจฉริยะ การส่งเสริมให้ดำเนินการระบบ Micro-grid การพิจารณาส่งเสริมการส่งจ่ายและจำหน่ายไฟฟ้าภายในโครงการโดยให้ภาคเอกชนสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนไฟฟ้าเองได้ การส่งเสริมการลงทุนในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน การส่งเสริมการเดินทางโดยพาหนะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการส่งเสริมให้เมืองอัจฉริยะสามารถผลิตและให้บริการโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านกายภาพ (Physical Infrastructure) และโครงสร้างด้านดิจิตอล (Digital Infrastructure) ได้เองภายในขอบเขตของเมือง
2. ด้านผังเมืองและการขนส่ง คือ การจัดรูปผังเมืองเฉพาะสำหรับเมืองอัจฉริยะ เพื่อลดข้อจำกัดในการใช้พื้นที่สำหรับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และสามารถจัดผังเมืองที่ส่งเสริมให้ใช้พลังงานน้อยลงในการเดินทาง หรือ เดินหรือขี่จักรยาน ซึ่งไม่ต้องใช้พลังงานในการเดินทางได้โดยสะดวก รวมทั้งพิจารณาส่งเสริมให้เมืองอัจฉริยะสามารถให้บริการระบบขนส่งมวลชนภายในเมืองของตนเอง โดยจะให้ความสำคัญกับระบบพลังงานสะอาดเป็นหลัก
3. ด้านชุมชนเมือง สิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยว คือ ส่งเสริมให้มีการกำหนดมาตรฐานด้านความปลอดภัย สุขภาพ การป้องกันภัยพิบัติ การดูแลผู้สูงอายุ ผู้ทุพลภาพ ให้ความสำคัญกับรูปแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตโดยการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ด้านต่างๆ ภายในเมืองอัจฉริยะ ตลอดจนพิจารณาความเป็นไปได้ในการให้สิทธิ หรือ สวัสดิการพิเศษสำหรับผู้อยู่อาศัย หรือ ทำงานในเมืองอัจฉริยะ กำหนดทิศทางให้เมืองอัจฉริยะเป็นแหล่งเรียนรู้ สถานที่พักผ่อน และท่องเที่ยวสำหรับครอบครัว
4. ด้านการบริหารจัดการเมือง คือ ส่งเสริมให้มีระบบการบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะเพื่อให้เมืองคงความเป็นอัจฉริยะในด้านต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยในการบริหารจัดการและต้องสามารถตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ได้ตลอดเวลา
และเพื่อที่จะให้การพัฒนาเมืองอัจฉริยะเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมในบ้านเรา สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้จัดทำโครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ ร่วมกับ กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และสถาบันอาคารเขียวไทย จนได้โครงการที่ผ่านการพิจารณารอบสุดท้าย 6 โครงการ ดังนี้
1. โครงการมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ รู้รักษ์พลังงาน สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดย นิด้า
2. โครงการ มช. (เมือง) มหาวิทยาลัยอัจฉริยะพลังงานสะอาด
3. โครงการเมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ
4. โครงการต้นแบบเมืองมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ โดย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
5. โครงการวิสซ์ดอม วัน-โอ-วัน
6. โครงการขอนแก่น Smart City (ระยะที่ ๑) : ขนส่งสาธารณะเปลี่ยนเมือง
โครงการทั้งหมดนี้ จะเป็นส่วนสำคัญที่จะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้เกิดขึ้นได้ในประเทศไทยต่อไป ด้วยความหวังว่า การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือ “Smart City” จะช่วยลดปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหามลภาวะทางอากาศ น้ำเสีย ขยะ การระบายน้ำ ช่วยส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดี คุณภาพอากาศที่ดี เพิ่มพื้นที่สีเขียว สนับสนุนให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ ตลอดจนจะเป็นการบ่มเพาะให้เกิดการพัฒนาธุรกิจใหม่ได้ในอนาคต
และคงไม่ใช่ความฝันที่ประเทศไทยเรากำลังจะมี “เมืองในฝัน” ในอีกไม่นานนี้…
8 ม.ค. 2568
10 ม.ค. 2568
2 ม.ค. 2568
23 ธ.ค. 2567