การกลับมาของวิถี Reuse สร้างสังคมปลอดขยะด้วย Milkman Model

Last updated: 26 เม.ย 2563  |  1590 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การกลับมาของวิถี Reuse  สร้างสังคมปลอดขยะด้วย Milkman Model

การกลับมาของวิถี Reuse 
สร้างสังคมปลอดขยะด้วย  “โมเดลคนส่งนม”

ในการประชุม  World Economic Forum  ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา  มีการเปิดตัวแนวคิดใหม่ที่สร้างความฮือฮาไปทั่วโลก นั่นคือ โครงการ Loop  ซึ่งเป็นไอเดียริเริ่มของบริษัทเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ที่สามารถระดมพลังจากแบรนด์ยักษ์ใหญ่ของโลกกว่า 24 ราย ให้ลุกขึ้นมาเริ่มใช้ระบบบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้  และเป็นการย้ายภาระเรื่องบรรจุภัณฑ์จากผู้บริโภคให้ไปอยู่ที่ผู้ผลิต

โครงการ Loop เป็นผลผลิตจากการทำงานกว่าหลายปีของบริษัท TerraCycle ในสหรัฐอเมริกา ที่เคยสร้างชื่อเสียงจากการเปลี่ยนขยะที่รีไซเคิลยาก (ลองนึกถึงกล่องน้ำผลไม้ แคปซูลกาแฟ ถุงมือพลาสติก และไส้กรองบุหรี่) ให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ บริษัทนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 2001 และเคยร่วมงานกับบริษัทอุปโภคบริโภครายใหญ่ใหญ่ บริษัทค้าปลีก ผู้ผลิต เทศบาล รวมไปถึงธุรกิจขนาดเล็กในกว่า 20 ประเทศทั่วโลก

Loop คือผลงานที่จากความร่วมมือและความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่ TerraCycle ได้พัฒนามาเป็นเวลาอันเนิ่นนาน  โดยพาร์ทเนอร์ของ Loop ในตอนนี้มีทั้ง พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล, เนสท์เล่, เป๊ปซี่โค, ยูนิลีเวอร์, มาร์ส, คลอร็อกซ์, โคคา-โคล่า, มอนเดลีซ, ดาน่อน และแบรนด์ขนาดเล็กอีกมากมาย นอกจากนี้ผู้ค้าปลีกรายใหญ่แห่งยุโรปอย่าง คาร์ฟูร์ และบริษัทจัดส่งสินค้า UPS ก็ยังตบเท้าเข้ามีส่วนร่วมในระบบนี้ด้วย

แพลตฟอร์มของ Loop คาดว่าจะเริ่มให้บริการในช่วงฤดูใบไม้ผลิ หรือประมาณเดือนพฤษภาคมของปีนี้ ใน 2 พื้นที่ ได้แก่ บริเวณ แคว้นอิล เดอ ฟรองซ์ ทางภาคกลางตอนเหนือของประเทศฝรั่งเศสซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงปารีส  และ ในมหานครนิวยอร์กของสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงบางส่วนของรัฐเพนซิลเวเนีย และนิวเจอร์ซีย์  โดยในช่วงแรกจะวางจำหน่ายสินค้าราว 300 ชนิด ซึ่งมาในบรรจุภัณฑ์ที่แข็งแรง ทนทาน ใช้ซ้ำได้ และผลิตขึ้นมาเพื่อโครงการ Loop โดยเฉพาะ

Tom Szaky ประธานบริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท TerraCycle อธิบายถึงโครงการนี้ว่า  “โจทย์หลักก็คือ เราไม่สามารถรีไซเคิลเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตขยะได้ เราต้องเปลี่ยนแปลงที่ต้นตอ และการเปลี่ยนแปลงที่ต้นตอในเวอร์ชั่นของเราก็คือ: ทำอย่างไรเราถึงจะสามารถกำจัดสาเหตุของปัญหาขยะ พร้อมมอบประโยชน์ได้ในเวลาเดียวกัน”

คอนเซ็ปต์ง่ายๆ ของ Loop  คือการนำ “โมเดลคนส่งนม” หรือ  Milkman Model  แบบโบราณกลับมาใช้อีกครั้ง โดยสินค้าจะถูกส่งถึงประตูบ้าน ส่วนบรรจุภัณฑ์เปล่าที่ใช้สินค้าหมดแล้วก็จะถูกเก็บคืน ทำความสะอาด เติมผลิตภัณฑ์ใหม่ นำเข้าสต็อคอีกครั้ง เพื่อรอส่งให้กับลูกค้าท่านต่อไป โดยลูกค้าได้ใช้สินค้า แต่ว่าบริษัทนั้นเป็นเจ้าของบรรจุภัณฑ์

ในเบื้องต้น  Loop  จะเป็นเหมือนระบบการซื้อของออนไลน์  โดยผู้บริโภคสามารถสั่งสินค้าได้ที่เว็บไซต์ของ Loop หรือเว็บไซต์ของบริษัทหุ้นส่วน แล้วรอรับสินค้าที่บ้านเหมือนการชอปปิ้งออนไลน์ทั่วไป แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาก็คือ ลูกค้าจะชำระค่ามัดจำเล็กน้อยสำหรับบรรจุภัณฑ์ที่ถูกออกแบบพิเศษเพื่อให้สามารถใช้ซ้ำได้มากกว่า 100 ครั้ง เมื่อใช้สินค้าด้านในหมดแล้ว ลูกค้าเพียงแค่นำบรรจุภัณฑ์เปล่าใส่ไว้ในกล่องที่ออกแบบพิเศษเพื่อรอให้เจ้าหน้าที่มาเก็บ หรือสามารถนำไปคืนที่ร้านค้าปลีกในละแวกที่อยู่อาศัยก็ได้เช่นกัน นอกจากนี้ ลูกค้ายังสามารถเลือกได้ว่าต้องการให้เติมสินค้าใหม่หรือไม่ ถ้าหากไม่ต้องการ ก็จะได้รับค่ามัดจำคืนเป็นเงินสดหรือโอนเข้าบัญชี ส่วนบรรจุภัณฑ์เปล่าที่ถูกคืนนั้นก็จะถูกส่งกลับไปยังโรงงานเพื่อทำความสะอาดและเติมสินค้าใหม่ให้กับลูกค้ารายต่อไป



กระบวนการทั้งหมดนี้มี TerraCycle เป็นคนดูแล ตั้งแต่ขายสินค้า ส่งสินค้า รับบรรจุภัณฑ์เปล่ากลับคืนมา และนำไปทำความสะอาด นอกจากนี้ TerraCycle ยังเป็นผู้ค้าปลีกโดยทำหน้าที่ซื้อราคาส่งเพื่อนำมาแบ่งขายโดยที่แบรนด์ยังเป็นเจ้าของบรรจุภัณฑ์อยู่

ต่อจากนั้น Loop  จะดึงธุรกิจค้าปลีกเข้ามามีส่วนร่วมด้วย  โดยคาร์ฟูร์และเทสโก้ในยุโรปได้เซ็นต์สัญญาและคาดว่าจะนำผลิตภัณฑ์ของ Loop วางขายในห้างของตนภายในสิ้นปีนี้  ส่วนฝั่งอเมริกา ขณะนี้ยังไม่มีการยืนยันว่าจะมีบริษัทค้าปลีกรายไหนเข้าร่วมด้วย 



ย้อนรอยจุดเริ่มต้นแนวคิด

หลังจากที่เริ่มมีกระแสรณรงค์เรื่องรีไซเคิลเมื่อราว ๆ 30 ปีก่อน  บริษัทหลายแห่งได้พยายามหาวิธีต่าง ๆ เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้บรรจุภัณฑ์ซ้ำได้หลายรอบ หนึ่งในวิธีที่มีการนำมาใช้ก็คือ  ผลิตภัณฑ์น้ำยาทำความสะอาดเข้มข้นแบบซอง ที่เพียงฉีกซอง เทลงในขวดใบเก่า และเติมน้ำ ก็จะได้ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์เดิมไว้ใช้โดยไม่ต้องซื้อขวดใหม่ อีกรูปแบบหนึ่งที่มีการนำใช้ก็คือ ร้านขายของแบบรีฟิล  (Refill Store) ที่ผุดขึ้นในยุโรปและอเมริกาเหนือ  ซึ่งผู้บริโภคสามารถนำบรรจุภัณฑ์ของตนเองมาใส่สินค้าได้ นอกจากนี้ ซูเปอร์มาเก็ตหรือร้านขายปลีกบางแห่งยังมีจุดรีฟิลสินค้าให้ผู้ซื้อนำบรรจุภัณฑ์มาเติมเองได้อีกด้วย

แต่ทว่า  แนวทางเหล่านี้ก็ไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าไหร่นัก เพราะนอกเหนือจากเหล่าลูกค้าที่รักสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังแล้ว ก็ไม่ค่อยมีใครอยากออกแรงลำบาก ถึงแม้ว่าจะอยากหลีกเลี่ยงขยะที่ไม่จำเป็นมากแค่ไหน  แนวทางของ Loop จึงช่วยหาทางออกให้กับอุปสรรคเหล่านี้  ด้วยการพยายามเลียนแบบวิถีของผู้บริโภคที่สะดวกกับพฤติกรรม “ซื้อ ใช้ และทิ้ง” ให้ได้มากที่สุด

"การรีไซเคิลและใช้ผลิตภัณฑ์รีไซเคิลคือการพยายามกำจัดขยะที่ดีที่สุดเท่าที่เราทำได้ แต่มันไม่สามารถแก้ไขปัญหาขยะจากต้นตอ เราย้อนกลับไปพิจารณาจนได้รู้ว่าสาเหตุที่แท้จริงของขยะคือ การใช้แล้วทิ้งและผลิตภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เราจึงได้ออกแบบวิธีที่สามารถแก้ปัญหาจากการใช้แล้วทิ้ง แต่ยังคงรักษาประโยชน์ของการใช้แล้วทิ้ง นั่นก็คือความสะดวกสบายและหาซื้อได้ง่าย โดยคุณจะได้รับกล่อง 1 ใบที่เต็มไปด้วยสินค้าที่คุณต้องการส่งให้ถึงประตูบ้าน แต่สิ่งที่เหนือกว่า ก็คือ กล่องนั้นมีความแข็งแรงทนทาน และคุณไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการทิ้งหรือรีไซเคิลกล่องกระดาษลูกฟูกแบบเดิม ๆ”  ซีอีโอของ TerraCycle กล่าวถึงเป้าหมายของ Loop  ซึ่งก็คือการทำระบบให้เรียบง่ายและเป็นสิ่งที่ผู้คนคุ้นเคย

ในฝั่งของลูกค้า  ระบบ Loop คือการพยายามเลียนแบบวิธีรีไซเคิลที่ลูกค้าเคยทำที่บ้าน  นั่นคือ ลูกค้าสามารถนำบรรจุภัณฑ์เปล่าใส่ไว้ในกล่องของ Loop หลังจากนั้น UPS หรือตัวแทนขนส่งสินค้าอื่น ๆ จะมาเก็บไป หรือลูกค้าสามารถนำไปคืนที่ร้านขายปลีกใกล้บ้านได้ด้วยตนเอง  โดยไม่ต้องล้าง ไม่ต้องทำความสะอาด ไม่ต่างอะไรกับสินค้าใช้แล้วทิ้งเลย แค่โยนลงในกล่องที่ลูกค้าจะได้รับจาก Loop  และรอให้เจ้าหน้าที่มาเก็บเท่านั้น

“ถังขยะ REUSE จะมาอยู่ข้างถังขยะทั่วไปและถังขยะรีไซเคิลภายในครัวเรือนของเรา  และตอนที่เรามาเก็บ คุณก็สามารถเลือกได้ว่าต้องการเติมสินค้าเลยหรือไม่  วิธีนี้จะช่วยลดความยุ่งยากและทำให้การชอปปิ้งง่ายกว่าเดิมเพราะว่าบรรจุภัณฑ์จะเป็นตัวสั่งสินค้าให้คุณเอง” Szaky กล่าว

ตั้งโชว์ได้

ส่วนหนึ่งของความมหัศจรรย์แห่ง Loop ก็คือ บรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้เหล่านี้ถูกดีไซน์ร่วมกับเจ้าของแบรนด์ต่าง ๆ จึงไม่ใช่เพียงแค่ทนทานเท่านั้น แต่ยัง “ตั้งเคาน์เตอร์โชว์ได้” หรือสวยงามพอที่จะตั้งโชว์เดี่ยว ๆ ได้เช่นกัน

“คุณจะอยากโชว์ให้เพื่อน ๆ เห็น มันไม่ใช่เพียงความสวยงามของรูปลักษณ์ แต่จริง ๆ แล้วยังเป็นการยกระดับประสบการณ์พรีเมียมให้แก่ผู้ใช้อีกด้วย” Virginie Helias รองประธานและหัวหน้าฝ่ายความยั่งยืนของบริษัทพรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล  กล่าว

สำหรับ บริษัทพรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล หรือ P&G  นั้น การเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนครั้งนี้ไม่ได้หมายถึงแค่การออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่สำหรับ Loop โดยเฉพาะ แต่ยังรวมไปถึงการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อีกด้วย  ยกตัวอย่าง Click แปรงสีฟันตัวใหม่ที่แยกไลน์ออกมาจาก Oral B  ด้ามแปรงผลิตจากวัสดุหลายอย่างผสมกัน  มีความทนทาน และลดการใช้พลาสติกลงถึง 60 %  อีกทั้งติดตั้งกลไกที่เรียกว่า คลิก ฟิต (Click Fits)  ซึ่งผู้ใช้สามารถถอดหัวแปรงสีฟันออกจากด้ามเพื่อเปลี่ยนได้

P & G ซึ่งเป็นหุ้นส่วนใหญ่ที่สุดของ Loop ได้ส่งสินค้ายอดนิยม 10 ยี่ห้อเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเปิดตัว Loop  รวมทั้ง  ยิลเล็ตต์ , แพนทีน และ แพมเพิร์ส ขณะที่ บริษัทยูนิลีเวอร์ ซึ่งเป็นอีกพาร์ทเนอร์ที่เข้าร่วมการเปิดตัวของ Loop ได้ส่งสินค้า 8 ยี่ห้อเข้าสู่แพลตฟอร์มของ Loop ไม่ว่าจะเป็น เรโซน่า, ลูกกลิ้งระงับกลิ่นกายโดฟและแอ็กซ์, ยาสีฟันซิกนัล, ไอศครีมฮาเก้น-ดาส และมายองเนสเฮลแมนส์

David Blanchard ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนา (R&D) ของบริษัทยูนิลีเวอร์ ยกตัวอย่างเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ลูกกลิ้งระงับกลิ่นกายของบริษัทว่า  “ฐานของแท่งทำมาจากโลหะสแตนเลส เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์หมดแล้ว ก็เพียงแค่ส่งมาให้เราเติมรีฟิลใหม่และส่งกลับไปให้คุณใช้อีกครั้ง”

อีกนวัตกรรมของบริษัทยูนิลีเวอร์ก็คือยาสีฟันแบบเม็ด (Tooth Tabs) ทางเลือกใหม่ของยาสีฟัน เป็นผงทำความสะอาดฟันอัดเม็ดที่ผู้ใช้สามารถ  เคี้ยว แปรงตามปกติ บ้วนทิ้ง และยิ้มอย่างมั่นใจ”

“เรากำลังสร้างโหลยาสีฟันรูปแบบใหม่ที่สามารถ Recycle และ Reuseได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพื่อให้ปราศจากบรรจุภัณฑ์และไร้ขยะอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังประหยัดน้ำอีกด้วย เพราะเพียงแค่นำผลิตภัณฑ์ใส่ปาก แปรง และกลั้วปากเพียงเล็กน้อยเท่านั้น” ผู้จัดการฝ่าย R&D ของยูนิลีเวอร์กล่าว

ผู้บริโภคจะซื้อใช้หรือไม่?

แน่นอนว่า Loop เป็นระบบที่ถูกออกแบบมาอย่างดี แถมยังมีแบรนด์ใหญ่คอยป้อนสินค้าและยื่นข้อเสนอที่น่าตื่นตาตื่นใจ แต่คำถามที่ยังต้องตอบให้ได้ก็คือ: ลูกค้าจะยินดีซื้อเพื่อใช้ซ้ำหรือเปล่า?

ความกังวลนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก ผู้บริโภคในยุโรป อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ และเอเชียต่างผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากโมเดลการผลิตและจัดส่งสินค้าจากที่โฆษณาว่าสามารถลดขยะ พลังงาน น้ำ และทรัพยากรอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นจากแบรนด์เล็กหรือแบรนด์ใหญ่  หลายๆ เคสที่ผ่านมา ผู้บริโภคมีความเชื่อว่า ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีคุณภาพต่ำกว่า หรือใช้งานได้ไม่ดีเท่า นอกจากนี้ยั งมีอุปสรรคจากราคาที่สูงกว่า ขาดความสะดวกสบายเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์แบบเดิม ๆ และมีอีกหลายเคส ที่ผู้บริโภครู้สึกรำคาญที่จะต้องมาเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตที่ทำมาตั้งแต่เกิด 

แม้ว่าระบบ Loop ยังไม่ได้ถูกทดลองใช้ในชีวิตจริง แต่บรรดาผู้ร่วมก่อตั้งเชื่อว่าพวกเขาได้พิจารณาหลุมพรางเหล่านี้มาอย่างดี

Helias จาก P&G มองว่า “ มันตอบโจทย์ความคาดหวังที่สูงขึ้นของผู้ใช้ บรรจุภัณฑ์ได้กลายมาเป็นคำตอบอันดับต้นๆเวลาที่เราถามผู้บริโภคว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญสำหรับพวกเขา ความหงุดหงิดที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์กลายเป็นปัจจัยสำคัญซึ่งกำลังแซงหน้าปัจจัยอื่นๆที่ถูกพูดถึงในงานวิจัยของเรา”

Blanchard จากยูนิลีเวอร์ ให้ความเห็นว่า  “เราคิดว่า 25 %ของผู้บริโภคในวันนี้กำลังมองหาและต้องการซื้อสินค้าจากแบรนด์ที่มีภาพลักษณ์ด้านความยั่งยืนหรือมีเป้าหมายที่มาจากมุมมองเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และน่าจะมีผู้บริโภคอีก 50 %กำลังเริ่มที่จะมองหาแบรนด์ที่มีมุมมองหรือภาพลักษณ์ด้านความยั่งยืน

“สิ่งที่ Loop มอบให้ก็คือโอกาสในการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมการซื้อขายที่ใหญ่ขึ้น ผู้บริโภคจะมีตัวเลือกสินค้าหลากหลายประเภทที่กว้างกว่าเดิม เป็นการมอบโอกาสให้พวกเขาได้ดูแลสิ่งแวดล้อมผ่านการนำกลับมาใช้ใหม่ในสเกลที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม”

Helias เชื่อว่าโมเดลการใช้ซ้ำ หรือ Reuse มีประโยชน์อื่น ๆ นอกเหนือจากด้านสิ่งแวดล้อม “แน่นอนว่าคุณสามารถพัฒนาความสัมพันธ์กับลูกค้าให้แนบแน่นมากขึ้น พร้อมสร้างความจงรักภักดีต่อแบรนด์ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อผลักดันและทำให้การบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบนั้นเกิดขึ้นได้ ซึ่งเป็นเป้าหมายแก่นแท้ของ P&G และโมเดลนี้สามารถตอบโจทย์ได้อย่างสวยงาม จึงเป็นสาเหตุให้แบรนด์มากมายในเครือของเราต่างตื่นเต้นเกี่ยวกับไอเดียนี้”

 

 

อย่างไรก็ดี ระบบนี้จะเวิร์กหรือไม่นั้น มีตัววัดที่สำคัญคือ อัตราการซื้อซ้ำ และมุมมองด้านสิ่งแวดล้อม  โดย Blanchard จากยูนิลีเวอร์มองว่า  “ เราคิดว่าตัววัดที่สำคัญที่สุดคือ อัตราการใช้ซ้ำ  นั่นคือ ผู้บริโภคกลับมาใช้สินค้าเหล่านี้ซ้ำแล้วซ้ำอีกหรือไม่? โดยปกติแล้วเราจะตั้งเป้าให้อัตราการซื้อซ้ำนั้นอยู่ที่ 50 เปอร์เซนต์เป็นอย่างต่ำ นั่นหมายความว่าในช่วงเวลาหนึ่ง อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของผู้บริโภคเหล่านั้นต้องกลับมาซื้อสินค้าซ้ำ 1 ครั้ง หรืออาจจะ 2 – 3 ครั้งก็ได้”

และแน่นอนว่าตัววัดด้านสิ่งแวดล้อมก็สำคัญเช่นกัน “จากมุมมองด้านสิ่งแวดล้อม เราต้องนำบรรจุภัณฑ์ Loop กลับมาเติมและใช้ใหม่อย่างน้อย 5 ครั้งจึงจะมีผลทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นได้ แต่เราหวังว่ามันจะมากกว่านั้น ” Helias จาก P&G กล่าว

นอกเหนือจากการรณรงค์เรื่องรีไซเคิลแล้ว  การใช้ซ้ำ หรือ Reuse ก็กำลังจะกลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง  เพื่อช่วยกันลดปัญหาขยะพลาสติกและดูแลรักษาทรัพยากรของโลกให้ยั่งยืน

 
ที่มา : World Economic Forum. The simple idea that could be the answer to our plastic problem: reusable packaging. 
ภาพ :  Loop

 

 

 

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้