Last updated: 26 เม.ย 2563 | 563 จำนวนผู้เข้าชม |
บ้านปู เพาเวอร์ฯ รายงานผลประกอบการครึ่งปีแรก ปี 2562
เผยโซลาร์ฟาร์มแห่งใหม่ ย้ำการเติบโตในจีนอย่างต่อเนื่อง
นายสุธี สุขเรือน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ในช่วงครึ่งปีแรกนี้ บ้านปู เพาเวอร์ฯ รักษาประสิทธิภาพและเสถียรภาพในการผลิตและจ่ายไฟของทั้งโรงไฟฟ้าทุกแห่งได้ดีตามความคาดหมาย ขณะเดียวกันก็แสวงหาการลงทุนเพิ่มเติมอยู่เสมอ ล่าสุดเราลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จีซิน (Jixin) กำลังผลิต 25 เมกะวัตต์ มูลค่า 189.15 ล้านหยวน หรือประมาณ 876 ล้านบาท ณ มณฑลเจียงซู ในจีน ซึ่งเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว โดยจะรับรู้รายได้ในช่วงไตรมาส 3/2562 ทั้งนี้ บ้านปู เพาเวอร์ฯ เป็นผู้ลงทุนธุรกิจไฟฟ้าจากไทยรายเดียวที่สามารถพัฒนาและเพิ่มกำลังผลิตในจีนได้อย่างต่อเนื่อง จากการที่เรามุ่งบริหารงานและพัฒนาโครงการร่วมกับพันธมิตรที่แข็งแกร่งให้สำเร็จเสมอมา และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับภาครัฐท้องถิ่นและชุมชนในพื้นที่ที่มีกิจกรรมทางธุรกิจ ในภาพรวม บริษัทฯ เดินหน้าขยายการเติบโตตามกลยุทธ์ Greener & Smarter อย่างมั่นคง โดยจากวันนี้ถึงปี 2566 เรามีกำลังผลิตรวมถึง 2,894 เมกะวัตต์เทียบเท่า โดยมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนร้อยละ 17 จึงเชื่อว่าภายในปี 2568 เราจะสามารถก้าวไปถึง 4,300 เมกะวัตต์เทียบเท่า พร้อมสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 อย่างที่ตั้งเป้าไว้ได้”
สำหรับผลประกอบการในไตรมาส 2/2562 บ้านปู เพาเวอร์ฯ มีรายได้รวม 1,283 ล้านบาท จากการขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมและโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในจีน ซึ่งลดลงเล็กน้อยร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาแม้ว่าปริมาณการขายไฟฟ้าและไอน้ำจะเพิ่มขึ้นก็ตาม เนื่องจากการแปลงค่าสกุลเงิน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการที่ค่าเงินหยวนอ่อนลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินบาท โดยโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม 3 แห่ง มีรายได้รวมที่ 1,059 ล้านบาท ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อีก 6 แห่ง มีรายได้รวมที่ 224 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เนื่องจากสภาวะอากาศที่เอื้ออำนวยและความเข้มข้นของแสงแดดที่สูงในช่วงฤดูร้อน
บริษัทฯ รับรู้ส่วนแบ่งกำไรจำนวน 1,369 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากโรงไฟฟ้าหงสามีอัตราความพร้อมจ่ายกระแสไฟฟ้า (Equivalent Availability Factor: EAF) ที่ร้อยละ 86 รายงานส่วนแบ่งกำไรจำนวน 1,026 ล้านบาท (รวมผลขาดทุนจากการแปลงค่าสกุลเงินแล้ว) ในขณะที่โรงไฟฟ้าบีแอลซีพีดำเนินงานได้เต็มประสิทธิภาพด้วย EAF ร้อยละ 100 รายงานส่วนแบ่งกำไรจำนวน 347 ล้านบาท (รวมผลขาดทุนจากการแปลงค่าสกุลเงินและผลบวกจากภาษีเงินได้รอตัดบัญชีแล้ว) ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ญี่ปุ่นทั้ง 5 แห่งในปีนี้ก็ได้รับผลดีจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยและค่าความเข้มข้นของแสงแดดที่มากขึ้น ทำให้สามารถผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าได้ทั้งสิ้น 31 กิกะวัตต์ชั่วโมง เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 92 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในไตรมาส 2/2562 บริษัทฯ มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) จำนวน 1,518 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6 จากไตรมาสก่อนหน้า
ปัจจุบัน บ้านปู เพาเวอร์ฯ มีกำลังผลิตที่ดำเนินการเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) แล้ว รวม 2,170 เมกะวัตต์เทียบเท่า ภายในปีนี้ จะมีโครงการโรงไฟฟ้าที่ COD เพิ่มอีก 2 แห่ง คือ ส่วนขยายโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมหลวนหนานระยะที่ 3 ในจีน กำลังผลิต 52 เมกะวัตต์เทียบเท่า เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าและ ไอน้ำที่มากขึ้นในช่วงฤดูหนาว และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์คุโรกะวะในญี่ปุ่น กำลังผลิต 19 เมกะวัตต์ ซึ่งก่อสร้างคืบหน้าถึงร้อยละ 71 และคาดว่าจะ COD ในช่วงปลายปีนี้ สำหรับในเวียดนาม โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมระยะที่ 1 กำลังผลิต 30 เมกะวัตต์ อยู่ในขั้นตอนคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้างและติดตั้ง ส่วนระยะที่ 2 และ 3 กำลังผลิต 30 และ 20 เมกะวัตต์ ตามลำดับ อยู่ระหว่างเตรียมการศึกษาความเป็นไปได้
“ประสบการณ์กว่า 20 ปี ในฐานะเอกชนรายแรกๆ ที่เริ่มลงทุนธุรกิจโรงไฟฟ้าในแถบเอเชีย ทำให้เราเชี่ยวชาญและสามารถต่อยอดการเติบโตได้ในประเทศที่มีศักยภาพอย่าง จีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม ซึ่งต่างมีปัจจัยที่เอื้อต่อการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูง นโยบายสนับสนุนพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไปและพลังงานหมุนเวียนที่ค่อนข้างชัดเจน และความสัมพันธ์อันดีจากกลุ่มผู้นำในภาคอุตสาหกรรมและสถาบันการเงิน นอกจากนี้ การผนึกพลังร่วมกับบริษัทแม่อย่างบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ด้วยการแลกเปลี่ยนความรู้ ความชำนาญ และนวัตกรรมต่างๆ ระหว่างกันเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจพลังงานแบบครบวงจร ยังเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนธุรกิจและสร้างโอกาสการลงทุนที่เหมาะสมได้ ทั้งหมดนี้ถือเป็นจุดแข็งที่ทำให้บ้านปู เพาเวอร์ฯ เป็นผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่พร้อมเติบโตอย่างต่อเนื่อง แข็งแกร่ง และยั่งยืน” นายสุธี กล่าวปิดท้าย
26 ธ.ค. 2567
26 ธ.ค. 2567
26 ธ.ค. 2567