Last updated: 29 เม.ย 2563 | 771 จำนวนผู้เข้าชม |
ผลโควิดกระทบรายได้เอสซีจีลด6% พร้อมเตรียมปรับเป้ายอดขายใหม่
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า งบการเงินรวมก่อนสอบทานของเอสซีจี ในไตรมาสที่ 1 ประจำปี 2563 มีรายได้จากการขาย 105,741 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาขายของสินค้าเคมีภัณฑ์ลดลง ตามความต้องการสินค้าในตลาดโลกที่ลดลง แต่ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน มีกำไร 6,971 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 40 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 2 จากไตรมาสก่อน ตามผลการดำเนินงานที่ลดลงของธุรกิจเคมิคอลส์ เนื่องจากส่วนต่างราคาสินค้าลดลงโดยในไตรมาสที่ 1 เอสซีจีมียอดขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (HVA) 46,120 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 44 ของยอดขายรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากไตรมาสก่อน โดยใช้งบลงทุนด้านวิจัยและพัฒนานวัตกรรมกว่า 1,372 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.3 ของยอดขายรวม และมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมการส่งออกจากประเทศไทย ในไตรมาสที่ 1 ปี 2563 ทั้งสิ้น 44,859 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42 ของยอดขายรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ เอสซีจีมีรายได้จากการส่งออกจากประเทศไทย 24,319 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 23 ของยอดขายรวม ลดลงร้อยละ 9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ยอมรับว่า อาจจะต้องมีการปรับเป้ายอดขายใหม่ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 แต่จะปรับเมื่อไรและเป็นเท่าไรนั้นต้องรอดูสถานการณ์ของโควิด-19 ก่อน
สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 1 ปี 2563 แยกตามรายธุรกิจ ดังนี้
ธุรกิจเคมิคอลส์ มีรายได้จากการขาย 38,329 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 17 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาผลิตภัณฑ์และปริมาณขายที่ปรับตัวลดลง และลดลงร้อยละ 7 จากไตรมาสก่อน โดยมีกำไรสำหรับงวด 1,778 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 70 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมลดลง และส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ที่ลดลง และลดลงร้อยละ 37 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมลดลง
ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง มีรายได้จากการขาย 46,245 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการในประเทศที่ลดลง แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากปัจจัยด้านฤดูกาล โดยมีกำไรสำหรับงวด 2,778 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 113 จากไตรมาสก่อน
ธุรกิจแพคเกจจิ้ง มีรายได้จากการขาย 24,267 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากการรวมผลประกอบการ Fajar และ Visy ประเทศไทย รวมถึงการทำงานเชิงรุกในทุกหน่วยงานภายในเพื่อตอบสนองความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้น และเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากไตรมาสก่อน โดยมีกำไรสำหรับงวด 1,732 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 45 จากไตรมาสก่อน
นายรุ่งโรจน์กล่าวว่า เอสซีจีได้ทำงานเชิงรุกและรวดเร็วในการบริหารจัดการความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ (Business Continuity Management) เสริมกับการเตรียมความพร้อมด้วยการปรับกลยุทธ์สู้ศึกดิสรัปชันในช่วงที่ผ่านมาอย่างเข้มข้น ภายใต้การขานรับมาตรการภาครัฐเพื่อรักษาสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด โดยนำศักยภาพด้านเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยให้พนักงานที่สำนักงานกว่าร้อยละ 90 สามารถทำงานได้จากที่บ้าน (Work from home) ขณะเดียวกันก็ช่วยให้การบริหารห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ตั้งแต่การผลิตจนถึงการส่งมอบโซลูชันสินค้าและบริการต่าง ๆ ไปยังลูกค้าทุกกลุ่มมีความสะดวกและปลอดภัย ควบคู่กับการมองหาโอกาสใหม่ ๆ ให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไปได้ เช่น การขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ หรือการผลักดันการใช้ Blockchain ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง-วางบิล-ชำระเงินกับคู่ธุรกิจได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่ยังรักษาสถานะทางการเงินให้แข็งแกร่ง พร้อมเตรียมปรับตัวอย่างเต็มที่ในการรับความท้าทายหากสถานการณ์ยาวนานต่อไป
สำหรับธุรกิจแพคเกจจิ้ง สามารถขายสินค้าและบริการด้านบรรจุภัณฑ์ครบวงจรได้ตอบโจทย์และทันต่อความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะจากพฤติกรรมการสั่งอาหารเดลิเวอรี่และการซื้อสินค้าออนไลน์ ด้วยการสร้างความเชื่อมั่นด้านสุขอนามัยในการผลิตและการขนส่งบรรจุภัณฑ์ ซึ่งลูกค้าให้ความใส่ใจอย่างมากในสถานการณ์นี้ได้เป็นอย่างดี ประกอบกับการบริหารจัดการโรงงานในไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ให้สามารถดำเนินการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดได้อย่างต่อเนื่องและปลอดภัย อีกทั้งยังมีการวางแผนการขายร่วมกับลูกค้ากลุ่มธุรกิจอย่างใกล้ชิด เพื่อปรับกระบวนการส่งมอบสินค้าและบริการให้มีความยืดหยุ่น สอดคล้องกับสถานการณ์ แต่ยังคงเสถียรภาพไว้ รวมทั้งการลดข้อจำกัดและอุปสรรคในการดำเนินงาน เพื่อให้ธุรกิจของลูกค้าสามารถเดินหน้าไปได้อย่างต่อเนื่องเช่นกัน
ส่วนธุรกิจเคมิคอลส์ มุ่งปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดที่ผันผวนและท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นการปรับสัดส่วนการขายเม็ดพลาสติกให้สอดคล้องกับตลาดที่เปลี่ยนไป ด้วยจุดแข็งในการมีเครือข่ายลูกค้าในหลายประเทศทั่วโลก จึงสามารถเพิ่มโอกาสทางการขายโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่ความต้องการใช้งานไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เช่น บรรจุภัณฑ์อาหาร และบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่ง นอกจากนี้ ยังเพิ่มมาตรการเชิงรุกด้านการป้องกันการระบาดของโควิด-19 เพื่อรักษามาตรฐานในการดำเนินธุรกิจ ตั้งแต่กระบวนการผลิต เช่น การเพิ่มมาตรการที่รัดกุมในการดูแลสุขภาพของพนักงานและคู่ธุรกิจเพื่อให้โรงงานในจังหวัดระยองเป็น ZERO COVID-19 ZONE การบริหารจัดการห่วงโซ่คุณค่าเพื่อให้การส่งมอบสินค้าและบริการแก่ลูกค้าเป็นไปอย่างต่อเนื่องและปลอดภัย
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติให้เลื่อนการจัดการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2563 ของเอสซีจี มาเป็นวันที่ 8 มิ.ย. 2563 เวลา 9.00 น. เป็นต้นไป ณ อาคารอเนกประสงค์ เอสซีจี สำนักงานใหญ่บางซื่อ โดยจะมีการปฏิบัติตามมาตรการภาครัฐอย่างเคร่งครัด ด้วยการจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วม โดยขอความร่วมมือผู้ถือหุ้นให้มอบฉันทะให้กรรมการอิสระตามรายชื่อที่กำหนด พร้อมมีมาตรการคัดกรองก่อนเข้าประชุม การดูแลสุขอนามัย และการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ตลอดการประชุม
14 ม.ค. 2568
14 ม.ค. 2568
15 ม.ค. 2568
12 ธ.ค. 2567