Last updated: 13 พ.ค. 2563 | 887 จำนวนผู้เข้าชม |
บางจาก ขาดทุนกว่า 4 พันล้านบาท ไตรมาสแรก
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานกลุ่มบริษัท บางจากฯ ไตรมาสแรกของปี 2563 ว่า บริษัท บางจากฯ และบริษัทย่อย มีรายได้จากการขายและการให้บริการรวม 43,070 ล้านบาท ลดลง 14% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และลดลง 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน มีการขาดทุนจากการเก็บสต็อกสินค้า และขาดทุนจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ และสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงอย่างมาก ทำให้มีการบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ส่งผลให้ไตรมาสนี้มีขาดทุนสุทธิรวม 4,316 ล้านบาท โดยเป็นขาดทุนสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ 4,661 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก
สำหรับผลการดำเนินงานกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน มี EBITDA ติดลบ 2,590 ล้านบาท มีค่าการกลั่นพื้นฐาน 2.87 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โรงกลั่นมีการใช้อัตราการผลิตเฉลี่ย 104,300 บาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็น 87% ของกำลังการผลิตรวมของโรงกลั่น
ธุรกิจโรงกลั่นมี Inventory Loss 2,774 ล้านบาท (รวมขาดทุนจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ (NRV)) ทำให้ธุรกิจโรงกลั่นมีผลการดำเนินงานปรับลดลงค่อนข้างมาก ในขณะที่ธุรกิจการค้าน้ำมันโดยบริษัท BCP Trading จำกัด มีปริมาณการค้าและธุรกรรมการซื้อขายน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น จากการเดินหน้าขยายธุรกรรมการค้ากับคู่ค้าและผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มขึ้นต่อไป
ธุรกิจการตลาด มี EBITDA จากการดำเนินงาน 672 ล้านบาท แต่เนื่องจากมี Inventory Loss จำนวน 591 ล้านบาท ทำให้มี EBITDA 81 ล้านบาท โดยปริมาณการขายรวมของธุรกิจการตลาดลดลง 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 13% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ส่วนใหญ่ลดลงจากการขายน้ำมันผ่านตลาดอุตสาหกรรม เนื่องจากสภาวะการแข่งขันในตลาดอุตสาหกรรมที่ค่อนข้างสูง และในช่วงไตรมาส 4 เป็นช่วง High Season ของการใช้น้ำมัน อีกทั้งในช่วงปลายไตรมาส 1 ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลง
ธุรกิจ Non-oil มีรายได้ลดลง 8% ขณะที่ EBITDA ปรับเพิ่มขึ้น 71% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารลดลง
กลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า มี EBITDA 770 ล้านบาท ปริมาณการขายไฟฟ้ารวมเพิ่มขึ้น 48% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการเข้าลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในประเทศลาว ในโครงการ Nam San 3A เมื่อเดือนกันยายน 2562 และโครงการ Nam San 3B กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 45 เมกะวัตต์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 การเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศไทย ลมลิกอร์ ของบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) แต่มีปริมาณการขายไฟฟ้ารวมลดลง 23% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า การขายไฟฟ้าพลังงานน้ำในประเทศลาวลดลง เนื่องจากปัญหาภาวะแล้งที่มากผิดปกติ โครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ทั้งในประเทศไทยและญี่ปุ่น มีปริมาณการขายไฟฟ้าลดลง ในไตรมาสนี้รับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วม 91 ล้านบาท แบ่งเป็น ส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานลม ในประเทศฟิลิปปินส์ 24 ล้านบาท และส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ ในประเทศอินโดนีเซีย 67 ล้านบาท
กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ มี EBITDA รวม 510 ล้านบาท เพิ่มขี้น 36% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้น 162% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2562 โดยธุรกิจผลิตและจำหน่ายไบโอดีเซล ผลการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้น คิดเป็น 95% เมื่อเทียบกับปี 2562 และ 61% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากราคาขายผลิตภัณฑ์ B100 ที่ปรับขึ้นค่อนข้างมาก จากการส่งเสริมการใช้ B100 ที่กำหนดให้น้ำมันดีเซล B10 เป็นน้ำมันเกรดหลัก แม้ปริมาณการขายผลิตภัณฑ์ B100 จะลดลง แต่ราคาขายเฉลี่ยผลิตภัณฑ์ B100 ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับความสามารถในการบริหารจัดการต้นทุนวัตถุดิบ ทำให้กำไรขั้นต้นปรับตัวดีขึ้น
ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอล มีรายได้ลดลงจากปริมาณการขายที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าและไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการแข่งขันของธุรกิจเอทานอลที่ค่อนข้างสูง ความต้องการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ลดลง ขณะที่ราคาขายเฉลี่ยผลิตภัณฑ์เอทานอลปรับตัวสูงขึ้น แต่จากการบริหารจัดการต้นทุนวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้กำไรขั้นต้นปรับเพิ่มขึ้น
กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ มี EBITDA ขาดทุน 1,227 ล้านบาท ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับลดลงอย่างมาก โดยมีการรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม OKEA เนื่องจากราคาน้ำมันและราคาก๊าซธรรมชาติปรับลดลง ส่งผลให้ OKEA มีรายได้ลดลง อีกทั้งมีการตั้งด้อยค่า Technical Goodwill และ Ordinary Goodwill และมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจากการแปลงค่าเงินกู้ยืมสกุลต่างประเทศ เนื่องจากการอ่อนค่าของสกุลเงินโครนนอร์เวย์เทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีการรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ของ Nido Petroleum Pty. Ltd. 1,366 ล้านบาท ทำให้ผลการดำเนินงานปรับลดลงค่อนข้างมาก
ซึ่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 บริษัทฯ ได้ประเมินสถานการณ์และเตรียมแนวทางการดำเนินงานเพื่อรองรับในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงและปิโตรเลียม โดยมีการปรับแผนการผลิต การปรับลดค่าใช้จ่าย และเงินลงทุน โดยด้านการผลิต โรงกลั่นจะมีการใช้กำลังการผลิตให้เหมาะสมสอดคล้องต่อความต้องการในตลาดที่ลดลง ซึ่งคาดว่าในปีนี้กำลังการผลิตจะลดลงจากแผนประมาณ 20% มีการจัดหาผลิดภัณฑ์จากภายนอกเพื่อนำมาขายแทนการผลิตเองบางส่วน ในกรณีที่สามารถทำกำไรได้มากกว่า มีการจัดหาน้ำมันดิบทางเลือกเพิ่มเติมอย่างเหมาะสม จะมีการปรับแผนการหยุดซ่อมบำรุงประจำปี โดยหยุดซ่อมหน่วยกลั่นที่ 2 ในระหว่างที่ใช้กำลังการผลิตลดลง และเลื่อนการหยุดซ่อมบำรุงประจำปีในส่วนอื่นๆ ตามแผนเดิมที่จะดำเนินการในไตรมาส 3 ของปีนี้ ออกไปเป็นปีหน้า
สำหรับการขาย ประเมินว่าปริมาณการขายของธุรกิจการตลาดในปีนี้จะปรับตัวลดลงประมาณ 20-25% โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล และน้ำมันอากาศยาน จึงมีมาตรการในการกระตุ้นยอดขาย โดยการจัดโปรโมชั่นผ่านทาง Loyalty program รวมถึงร่วมมือกับพันธมิตร ส่วนธุรกิจ Non-oil จะเน้นการขายผ่าน Delivery มากขึ้น
ด้านสถานะการเงิน ได้มีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ก่อนเกิดสถานการณ์ โดยได้ทบทวนและปรับแผนการใช้จ่าย (OPEX) และแผนการลงทุน (CAPEX) ในโครงการต่างๆ ตามแผนธุรกิจของปี 2563 โดยให้มีการปรับลดหรือชะลอ รวมถึงเลื่อนการลงทุนในโครงการที่ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน แต่ต้องไม่กระทบกับการดำเนินธุรกิจหลักและต้องปฏิบัติตามกฎหมายและคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก โดยสามารถปรับลด OPEX ได้ 20% และลดและเลื่อน CAPEX ได้ 15%
นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งคณะทำงาน Innovation Continuity Task Force ระดมความคิดจากพนักงานในการต่อยอดธุรกิจเดิมหรือสรรหาแนวการทำธุรกิจใหม่ๆ เพื่อเป็นการหารายได้ทดแทนและรองรับการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ทางธุรกิจที่จะเปลี่ยนแปลงไปหลังจากวิกฤตโควิด-19
14 ม.ค. 2568
15 ม.ค. 2568
14 ม.ค. 2568
12 ธ.ค. 2567