บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)

Last updated: 13 พ.ค. 2563  |  1556 จำนวนผู้เข้าชม  | 

บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)

BPP เดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าในจีน และญี่ปุ่น

นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP เปิดเผยว่า การก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าในประเทศจีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม กำลังผลิตรวม 424 เมกะวัตต์ มีความคืบหน้าตามแผน แม้จะมีการแพร่ระบาดจากไวรัสโควิด-19 แต่บริษัทฯ ได้เตรียมแผนรับมือไว้แล้ว ทำให้สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ตามแผนงานที่กำหนดไว้ ประกอบด้วย โครงการโรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง (Shanxi Lu Guang) ในจีน กำลังผลิต 396 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น ยามางาตะ (Yamagata) 20 เมกะวัตต์ และยาบูกิ (Yabuki) 7 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ระยะที่ 1 ในเวียดนาม 30 เมกะวัตต์ คาดว่าจะทยอยจ่ายไฟฟ้าในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปีนี้

ส่วนผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ปี 2563 มีรายได้รวม 1,843 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ประกอบด้วยรายได้จากการขายไฟฟ้าในจีน ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมทั้ง 3 แห่ง จำนวน 1,626 ล้านบาท โดยมีการจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำรวมทั้งน้ำร้อนเพิ่มขึ้น 9% และ 25% ตามลำดับเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า อีกส่วนหนึ่งมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้ง 7 แห่ง จำนวน 89 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนผลการดำเนินงานเพียง 2 เดือน ในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นการรายงานในรูปแบบส่วนแบ่งกำไรภายหลังการปรับโครงสร้างการลงทุนเสร็จสิ้นต้นเดือนมีนาคม 2563 และรายได้จากธุรกิจซื้อขายไฟฟ้า (Energy Trading) ในญี่ปุ่น จำนวน 128 ล้านบาท

บริษัทฯ ยังได้รับส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจร่วมค้าจำนวน 1,104 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว ส่วนหลักมาจากโรงไฟฟ้าหงสาที่รายงานส่วนแบ่งกำไรจำนวน 1,122 ล้านบาท (รวมผลกำไรจากการแปลงค่าเงินแล้วจำนวน 151 ล้านบาท) ส่วนโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีรายงานส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานจำนวน 200 ล้านบาท (ยังไม่รวมผลขาดทุนจากภาษีเงินได้รอตัดบัญชีจำนวน 243 ล้านบาท และผลขาดทุนจากการแปลงค่าเงินจำนวน 26 ล้านบาท) ดังนั้น จึงรายงานส่วนแบ่งขาดทุนจำนวน 70 ล้านบาท

นอกจากนั้น ธุรกิจพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงาน ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด รายงานส่วนแบ่งกำไรจำนวน 32 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลการดำเนินงานเดือนมีนาคมเพียง 1 เดือน

โดยมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) 1,775 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว เนื่องมาจากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีและโรงไฟฟ้าหงสา ซึ่งมีค่าความพร้อมจ่าย (Equivalent Availability Factor: EAF) ถึง 100% และ 91% ตามลำดับ โดยสามารถเดินเครื่องเพื่อผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ไตรมาส 1 ปี 2563 BPP มีกำไรสุทธิ 975.35 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,254.47 ล้านบาท

“โรงไฟฟ้าทุกแห่งของ BPP สามารถเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพแม้ในสภาวะของการเกิดโควิด-19 บริษัทฯ ได้มีการบริหารจัดการทั้งแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจและการบริหารการเงินเพื่อรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยดำเนินมาตรการป้องกันต่างๆ อย่างเคร่งครัดตามแนวทางที่รัฐบาลในแต่ละประเทศกำหนด มีการบริหารต้นทุนอย่างรัดกุม มุ่งเน้นการรักษาประสิทธิภาพและเสถียรภาพของทุกๆ โรงไฟฟ้า และความสามารถในการรักษาสถานะทางการเงินไว้เป็นอย่างดี ทำให้ผลประกอบการทั้งในส่วนของพอร์ตพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไปและพลังงานหมุนเวียนยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การลงทุนใน บ้านปู เน็กซ์ เริ่มเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนแล้ว ถือเป็นการเพิ่มโอกาสการเติบโตโดยเฉพาะด้านธุรกิจพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงานอย่างครบวงจร” นายกีรณ กล่าว

ปัจจุบัน BPP มีโรงไฟฟ้าและโครงการโรงไฟฟ้าทั้งหมด 33 แห่ง แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว 24 แห่ง และอยู่ระหว่างการพัฒนา 9 โครงการ กำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุนรวม 2,784 เมกะวัตต์เทียบเท่า คิดเป็นกำลังผลิตที่ COD แล้ว 2,250 เมกะวัตต์เทียบเท่า (รวมส่วนแบ่งกำลังผลิตจากการปรับโครงสร้างการลงทุนในบ้านปู เน็กซ์)

นอกจากนี้ การเข้าถือหุ้นใน Sunseap Group Pte. Ltd. (Sunseap) ผ่านบ้านปู เน็กซ์ เพิ่มขึ้นเป็น 48.6% ยังช่วยขยายพอร์ตธุรกิจพลังงานสะอาดในกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไต้หวัน และตอกย้ำความมุ่งมั่นของบ้านปู เพาเวอร์ฯ ในการขยายการเติบโตให้ถึงเป้าหมาย 5,300 เมกะวัตต์เทียบเท่า โดยมีพลังงานหมุนเวียน 800 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้