Last updated: 14 ก.ค. 2563 | 606 จำนวนผู้เข้าชม |
สนธิรัตน์ พบนักธุรกิจญี่ปุ่นหารือทิศทางธุรกิจญี่ปุ่นในไทย
ยันพร้อมร่วมโครงการด้านพลังงานของรัฐ
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้หารือกับ นายทาเคทานิ อัทสึชิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) พร้อมด้วยคณะผู้แทนหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC) ซึ่งประกอบไปด้วยนักธุรกิจของประเทศญี่ปุ่นที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย เข้าพบเพื่อนำเสนอข้อมูลรายงานผลการสำรวจความคิดเห็นและแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย ประจำครึ่งปีแรก พ.ศ. 2563 ให้กับกระทรวงพลังงานรับทราบ
ซึ่งการรายงานผลสำรวจดังกล่าวเป็นการแสดงให้เห็นถึงสภาพธุรกิจ ทิศทางและแนวโน้มการดำเนินธุรกิจของประเทศญี่ปุ่นในประเทศไทย อันจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดทิศทางนโยบายด้านพลังงานของไทยกับประเทศญี่ปุ่นในอนาคต
โดยมีบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นให้ความสนใจเข้าร่วมการประชุมหลายบริษัท อาทิ บริษัท มิทซูบิชิ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท มิทซุย จำกัด (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท มารูเบนิ จำกัด (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท โตโยตา มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ซูมิโตโม (ประเทศไทย) จำกัด เป็นต้น
ฝ่ายญี่ปุ่นได้นำเสนอรายงานผลสำรวจความคิดเห็นและแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย ประจำครึ่งปีแรก พ.ศ. 2563
โดยพบว่า ค่าดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจปรับตัวลดลงเท่ากับ -69 ในช่วงครึ่งแรกของปี พ.ศ. 2563 และคาดการณ์ว่าในช่วงครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2563 จะมีการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ โดยค่าดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจน่าจะปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ -44 และยังยืนยันที่จะยังคงประกอบกิจการหรือขยายขนาดของธุรกิจในประเทศไทยต่อไป
โดยบริษัทส่วนใหญ่ต้องการมาตรการส่งเสริมการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการสาธารณูปโภคและการพัฒนาระบบพิธีการทางศุลกากรที่เอื้อต่อภาคธุรกิจมากขึ้น
ที่ประชุมยังได้มีการหารือถึงแนวทางการลงทุนและแนวทางการดำเนินธุรกิจด้านพลังงานในประเทศไทย
โดยฝ่ายนักธุรกิจญี่ปุ่นได้แสดงความสนใจในธุรกิจหลายด้าน อาทิ เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้า ธุรกิจการผลิตปิโตรเลียม ตลาดการซื้อขายแลกเปลี่ยนก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ LNG การผลักดันมาตรฐานเชื้อเพลิงน้ำมัน EURO-5 รวมถึง ได้แสดงความสนใจในนโยบายภาครัฐของไทยในการสนับสนุนธุรกิจด้านพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และเชื้อเพลิงชีวมวลเพื่อผลิตไฟฟ้า และการสนับสนุนของภาครัฐในการผลักดันการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในภาคขนส่ง เป็นต้น
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ให้ข้อมูลแนวนโยบายภาครัฐของประเทศ รวมถึงร่วมกันหารือทิศทางการพัฒนาพลังงานในด้านต่าง ๆ ร่วมกับฝ่ายญี่ปุ่น อาทิ การให้ความสำคัญกับการลดการนำเข้าพลังงานฟอสซิลและการกระจายแหล่งเชื้อเพลิงเพื่อผลิตพลังงานให้มีความหลากหลายและสมดุล รวมถึงการมุ่งเน้นการใช้เชื้อเพลิงพลังงานทดแทนจากท้องถิ่น โดยผลักดันให้เกิด “โรงไฟฟ้าชุมชน” เช่น การผลิตก๊าซชีวภาพจากของเหลือใช้จากภาคการเกษตร การผลิตพลังงานจากเชื้อเพลิงชีวมวลจากไม้ไผ่ การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในระดับครัวเรือน เป็นต้น ส่วนในด้านเชื้อเพลิงชีวภาพที่ฝ่ายญี่ปุ่นให้ความสนใจนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ให้ข้อมูลทิศทางการพัฒนาการใช้น้ำมันไบโอดีเซลและเอทานอลในภาคขนส่ง โดยกำหนดมาตรฐานสัดส่วนเชื้อเพลิงชีวภาพให้ใช้ B10 และ E20 เป็นเชื้อเพลิงหลัก นอกจากนั้น ประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาว โดยผลักดันกระบวนการประมูลแหล่งเชื้อเพลิงปิโตรเลียมให้ทันตามกำหนดเวลา การมุ่งไปสู่การเป็น LNG Hub ของภูมิภาคอาเซียน รวมทั้ง เร่งการเจรจาเพื่อใช้ประโยชน์จากแหล่งปิโตรเลียมในเขตพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทยมีการใช้ประโยชน์จากเชื้อเพลิงด้านพลังงานอย่างสมดุลและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศ
ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังได้กล่าวต้อนรับและเชิญชวนนักธุรกิจจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาร่วมลงทุนและดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองประเทศจะได้เกิดการพัฒนาด้านพลังงานร่วมกันทั้งในด้านนโยบายและภาคธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยในการขับเคลื่อนนโยบายด้านพลังงานของประเทศไทย ในอนาคตต่อไป
20 ธ.ค. 2567
21 ธ.ค. 2567
20 ธ.ค. 2567
21 ธ.ค. 2567