การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

Last updated: 4 ส.ค. 2563  |  798 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

กฟผ. อวดโฉมหุ่นยนต์อเนกประสงค์บำรุงรักษาสายส่ง
นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า และนวัตกรรมเพื่อชุมชน สิ่งแวดล้อม ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563

กฟผ. นำผลงานสิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมเด่น ‘หุ่นยนต์อเนกประสงค์เพื่องานบำรุงรักษาสายส่ง’ ‘โปรแกรมถอดรหัสสัญญาณความสั่นสะเทือน ค้นหา Bearing ที่มีความเสียหายในระยะเริ่มต้น’ ซึ่งสร้างประโยชน์ ด้านพลังงานไฟฟ้า ตลอดจนนำนวัตกรรมเพื่อชุมชน สิ่งแวดล้อม ‘เครื่องกำจัดวัชพืชลอยน้ำแบบบดละเอียดสู่การใช้ประโยชน์ทางการเกษตรของชุมชน’ ‘การพัฒนารูปแบบการตรวจแบคทีเรียโคลิฟอร์มในน้ำดื่มแบบเม็ด’ โชว์ภายในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563

ดร.จิราพร ศิริคำ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. ได้นำผลงานสิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม ภายใต้แนวคิด นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า เพื่อชีวิตที่ดีกว่า จำนวน 4 ผลงาน ร่วมจัดแสดงภายในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563 (Thailand Research 2020) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 6 สิงหาคม 2563 โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานเปิดงาน ในวันที่ 4 สิงหาคม 2563 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพ

สำหรับผลงานสิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรม ที่ กฟผ. นำไปจัดแสดง จำนวน 4 ผลงาน ได้แก่ ผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม อาทิ ผลงาน ‘หุ่นยนต์อเนกประสงค์เพื่องานบำรุงรักษาสายส่ง’ แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับอุปกรณ์ซับการสั่นสะเทือน ซึ่งสามารถซ่อมบำรุงการหลุดเลื่อนของอุปกรณ์โดยไม่ต้องดับไฟ ลดการขาดร่วงของสายไฟฟ้าแรงสูงจากการสั่นสะเทือนของแรงลม เสริมความมั่นคงในการส่งจ่ายไฟฟ้า และผลงาน ‘โปรแกรมถอดรหัสสัญญาณความสั่นสะเทือน ค้นหา Bearing ที่มีความเสียหายในระยะเริ่มต้น’ โปรแกรมบ่งชี้สุขภาพของอุปกรณ์สำคัญภายในเครื่องจักรของโรงไฟฟ้า อาทิ ตลับลูกปืน เฟือง และมอเตอร์ ซึ่งมีความสำคัญต่อการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า สามารถป้องกันความเสียหายต่อการผลิตไฟฟ้า และช่วยให้วางแผนบำรุงรักษาล่วงหน้าได้อย่างเหมาะสม ไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ไฟฟ้าของภาคประชาชนและภาคธุรกิจ

นอกจากนั้น ยังนำผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน สิ่งแวดล้อมไปร่วมจัดแสดง อาทิ ผลงาน ‘เครื่องกำจัดวัชพืชลอยน้ำแบบบดละเอียดสู่การใช้ประโยชน์ทางการเกษตรของชุมชน’ รูปแบบเป็นเรือ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการบดละเอียดวัชพืชและขยะ สร้างทัศนียภาพที่สวยงามให้แหล่งน้ำ ลดผลกระทบต่อการการประมงพื้นบ้าน การคมนาคมและท่องเที่ยวทางน้ำ นอกจากนั้น ยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่วัชพืช ด้วยการแปรรูปเป็นอาหารสัตว์และปุ๋ย สร้างอาชีพและเสริมรายได้ให้แก่ชุมชนได้อีกทางหนึ่ง และผลงาน ‘การพัฒนารูปแบบการตรวจแบคทีเรียโคลิฟอร์มในน้ำดื่มแบบเม็ด’ ชุดทดสอบคุณภาพน้ำรูปแบบแคปซูล ซึ่งสามารถตรวจหาเชื้อก่อโรค ป้องกันโรคทางเดินอาหารในน้ำดื่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้งานง่าย รวดเร็ว และแม่นยำ มีประโยชน์อย่างยิ่งในประเทศเขตร้อน อย่างประเทศไทย ที่มีการแพร่ระบาดของโรคทางเดินอาหาร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้