ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน)

Last updated: 26 ส.ค. 2563  |  657 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน)

เอ็กโก เตรียมยื่นขอเป็น LNG Shipper รายใหม่



บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป เตรียมยื่นขอใบอนุญาตจัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาตเหลว (LNG Shipper) รายใหม่ของประเทศ เพื่อนำเข้ามาใช้ในโรงไฟฟ้าของตนเอง พร้อมเดินหน้าขยายธุรกิจที่สร้างผลตอบแทนที่ดี เน้นธุรกิจไฟฟ้าทั้งเชื้อเพลิงหลักและพลังงานหมุนเวียน พร้อมทั้งขยายไปในธุรกิจที่สร้างผลกำไรที่ดี โดยปีนี้ยังใช้เงินลงทุน 3 หมื่นล้านบาท และเมื่อสร้างโรงไฟฟ้าตามแผนแล้วเสร็จโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจะมีสัดส่วนถึง 24%

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า ในเร็วๆ นี้ เอ็กโก กรุ๊ป จะยื่นขอใบอนุญาตเป็นผู้จัดหาและนำเข้า LNG รายใหม่ของประเทศ จากปัจจุบันที่มีอยู่ 5 รายที่ได้รับอนุมัติเป็น LNG Shipper แล้ว เพื่อที่จะเข้า LNG มาใช้ในโรงไฟฟ้าของตนเอง ซึ่งปัจจุบันมีความต้องการใช้ก๊าซฯ ประมาณ 2 แสนตันต่อปี ซึ่งส่วนหนึ่งมีสัญญาซื้อขายก๊าซฯ กับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แต่อีกจะสามารถจัดหาและนำเข้า LNG ได้ อย่างไรก็ตาม ต้องรอนโยบายที่ชัดเจนจากกระทรวงพลังงานด้วยว่า จะให้ใบอนุญาต LNG Shipper เพิ่มเติมแก่รายใหม่หรือไม่ และจะมีการให้นำเข้า LNG ได้จริงหรือไม่ เพราะปัจจุบันผู้ที่ได้รับใบอนุญาต LNG Shipper รายใหม่ ก็ต้องให้กระทรวงพลังงานอนุญาตก่อนจึงจะนำเข้าได้

สำหรับการลงทุนในปีนี้ของ เอ็กโก กรุ๊ป มีเงินลงทุนประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งในครึ่งปีแรกใช้ไปแล้ว 2.1 หมื่นล้านบาท เหลืออีก 9 พันล้านบาท จะใช้ลงทุนในครึ่งปีหลังในโครงการลงทุนตามแผน ซึ่งจะมีการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าอีก 4 โรง โดยในปีนี้แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง และบางโครงการมีการก่อสร้างล่าช้า แต่คาดว่าทุกโครงการจะเป็นไปตามแผนที่วางไว้ และไม่มีการปรับลดเงินลงทุนในปีนี้

สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 4 โครงการ ประกอบด้วย โครงการโรงไฟฟ้า 3 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง กังดง ในเกาหลีใต้ ก่อสร้างแล้วเสร็จ 98% ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) ไตรมาส 4 ปี 2563 โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ น้ำเทิน 1 ใน สปป.ลาว ก่อสร้างแล้วเสร็จ 74% คาดว่าจะเริ่ม COD ไตรมาส 2 ปี 2565 และโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งทะเล หยุนหลิน ในไต้หวัน ก่อสร้าง แล้วเสร็จ 48% คาดว่าจะเริ่ม COD ไตรมาส 3 ปี 2564 นอกจากนี้ ยังมีโครงการธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง 1 โครงการ ได้แก่ โครงการขยายระบบขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก่อสร้างแล้วเสร็จ 43% คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในไตรมาส 4 ปี 2564

ปัจจุบัน เอ็กโก กรุ๊ป มีโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศที่ COD แล้ว จำนวน 28 แห่ง คิดเป็นกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น 5,475 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้าและโครงการต่างๆ ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงหลายประเภท ทั้งก๊าซฯ มีสัดส่วน 56.37% ถ่านหิน 24.77% และพลังงานหมุนเวียร 18.86% ตั้งอยู่ใน 7 ประเทศ ได้แก่ ไทย สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และไต้หวัน เมื่อโครงการโรงไฟฟ้าตามแผนแล้วเสร็จ จะทำให้สัดส่วนจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเป็น 24%

สำหรับทิศทางการลงทุนในอนาคต เอ็กโก กรุ๊ป มุ่งมั่นขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจ ทั้งด้านการผลิตและให้บริการด้านพลังงาน ครอบคลุมธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งยังคงเป็นธุรกิจหลัก ทั้งโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและพลังงานหมุนเวียน โดยเปิดกว้างเรื่องพื้นที่การลงทุนทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งแสวงหาโอกาสการลงทุนใหม่ในธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง ได้แก่ ธุรกิจเชื้อเพลิงและระบบสาธารณูปโภค โดยได้เริ่มลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านเชื้อเพลิง (Fuel Infrastructure) ซึ่งเป็นธุรกิจต้นน้ำที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจหลัก เช่น โครงการขยายระบบขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นต้น และธุรกิจ Smart Energy Solution ในฐานะผู้ให้บริการด้านนวัตกรรมพลังงานอย่างครบวงจร เช่น การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยอง ให้เป็น Smart Industrial Estate ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำ EIA โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2563 และการพัฒนาโครงการโซลาร์ ในรูปแบบ Solar Solution Provider ซึ่งอยู่ระหว่าง การเจรจากับลูกค้าอุตสาหกรรมและอาคารพาณิชย์ เป็นต้น

สำหรับผลการดำเนินงานในปีนี้คาดว่าจะใกล้เคียงกับปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิประมาณ 1 หมื่นล้านบาท โดย 6 เดือนแรกปี 63 มีกำไรสุทธิ 4,662 ล้านบาท เพราะจะมีกำลังการผลิตใหม่เพิ่มขึ้น และโรงไฟฟ้าไซยะบุรีคาดว่าจะผลิตไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่จะมากระทบผลประกอบการคือ ความต้องการใช้ไฟฟาที่ลดลง และการปิดซ่อมโรงไฟฟ้าบางแห่ง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้