การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

Last updated: 18 พ.ย. 2567  |  843 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

 

 

พลังงานไฮโดรเจนทางเลือกใหม่ ดันไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

พลังงานไฮโดรเจน นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สำคัญในยุคของการเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่การใช้พลังงานสะอาด และมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ประเทศไทยเองก็ให้ความสำคัญและสนับสนุนการใช้ไฮโดรเจนในภาคพลังงานไฟฟ้า ภาคการขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะผู้นำด้านการผลิตไฟฟ้าเพื่อสร้างความมั่นคงของประเทศ จึงนำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมสถานีเติมไฮโดรเจนไห่โข่วที่ใช้กับรถยนต์ (Haikou Photovoltaic Hydrogen Production and High Pressure Hydrogenation Station) พร้อมต่อยอดพัฒนาโครงการวิจัยไฮโดรเจนสีเขียว โดย บริษัท Haima Automobile (Haima Motor) และ China Aerospace Science and Technology Corporation เพื่อเป็นสถานีไฮโดรเจนสีเขียวแห่งแรกของมณฑลไห่หนาน ณ เมืองไห่โข่ว ประชาชนจีน

สถานีไฮโดรเจนจากพลังงานแสงอาทิตย์ไห่โข่ว เริ่มดำเนินการในปี 2565 เพื่อเป็นสถานีไฮโดรเจนแห่งแรกของมณฑลไห่หนาน ที่ผลิตไฮโดรเจนสีเขียวจากไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) กำลังการผลิต 5 เมกกะวัตต์ ด้วยกระบวนการอิเล็กโทรลิซิส (Electrolysis) หรือการแยกน้ำเป็นไฮโดรเจนด้วยไฟฟ้า ซึ่งสามารถผลิตไฮโดรเจนสีเขียวได้ 100 กิโลกรัมต่อวัน จากนั้นจึงนำไปกักเก็บไว้ในถังเก็บไฮโดรเจน 250 กิโลกรัมต่อวัน และในอนาคตสามารถขยายเพิ่มขึ้นเป็น 500 กิโลกรัมต่อวัน เพื่อปรับแรงดันให้มีความเหมาะสม ก่อนนำไปเติมให้กับรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน ประมาณ 100 คันต่อวัน โดยใช้เวลาในการเติมประมาณคันละ 3 นาที ตั้งเป้าหมายในการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 60,000 ตันต่อปี

สำหรับประเทศไทย นายวีระ ตั้งวิชาชาญ ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารเชื้อเพลิง กฟผ. กล่าวว่า การพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนในภาคพลังงานไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืนของประเทศ มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2608 โดย กฟผ. ได้ร่วมกับพันธมิตรศึกษาสัดส่วนการนำก๊าซไฮโดรเจนผสมกับก๊าซธรรมชาติมาใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วมในการผลิตไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. และศึกษาศักยภาพและพัฒนาการผลิตไฮโดรเจนจากพลังงานสะอาดมาใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วมกับก๊าซธรรมชาติสัดส่วน 5% ในโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ที่มีอยู่เดิม ปัจจุบันได้ศึกษาความเหมาะสมเสร็จแล้ว และเตรียมความพร้อมขออนุมัติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการ โดยมีเป้าหมายให้ดำเนินการภายในปี 2573 และมีโครงการที่ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา คือ โครงการผลิตไฮโดรเจนและแอมโมเนียสะอาดจากพลังงานหมุนเวียนบนพื้นที่ศักยภาพของ กฟผ. ซึ่งมีเป้าหมายเริ่มดำเนินโครงการต้นแบบในปี 2573

อย่างไรก็ตาม กฟผ. มีโครงการ Wind Hydrogen Hybrid ที่โรงไฟฟ้าลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา สามารถผลิตไฮโดรเจนสีเขียวจากไฟฟ้าที่ได้จากกังหันลมด้วยกระบวนการอิเล็กโทรลิซิส ทำงานร่วมกับเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) กำลังผลิต 300 กิโลวัตต์ เปลี่ยนไฮโดรเจนให้เป็นพลังงานไฟฟ้าจ่ายให้ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง โดยเริ่มใช้งานตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งจากการเยี่ยมชมสถานีเติมไฮโดรเจนไห่โข่วในครั้งนี้ ทำให้เห็นว่าเราสามารถใช้พลังงานไฮโดรเจนได้จริงในอนาคตอันใกล้นี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้