Last updated: 2 เม.ย 2568 | 294 จำนวนผู้เข้าชม |
วิกฤตไฟฟ้าเวียดนาม เอกชนไทยลุ้น จ่ายค่าไฟตามเดิม
ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนไทย นับถอยหลัง สัปดาห์หน้ารู้ผลถกค่าไฟฟ้า โครงการพลังงานหมุนเวียนในประเทศเวียดนาม กำลังประสบปัญหาอย่างมาก จากการที่เวียดนามมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยปรับอัตรา Feed-in Tariff (FiT) ใหม่ ทำให้ผลตอบแทนโครงการลงทุนลดลงอย่างมาก การไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) ชะลอจ่ายเงินค่าไฟฟ้า บางรายได้รับเงินค่าไฟฟ้าไม่ครบถ้วน ส่งผลโครงการไม่มีเงินเพียงพอจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ หรือบางโครงการอาจจะล้มละลาย และจะต้องมีการขายโครงการออกมา
แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการไฟฟ้าไทย เปิดเผยว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศเวียดนามมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น จึงมีการเชิญชวนให้เอกชนจากในประเทศและต่างประเทศ เข้าไปลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) และพลังงานลม โดยให้อัตรารับซื้อไฟฟ้าแบบ Feed-in Tariff (FiT) ที่สูง และมีสัญญาซื้อขายเป็นระยะเวลานานถึง 20 ปี
ผู้ประกอบโรงไฟฟ้าเอกชนของไทยหลายรายได้ ได้เข้าไปลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลมหลายโครงการ และยังมีนักลงทุนจากประเทศอื่น อาทิ สิงคโปร์ ฮ่องกง ที่เข้าไปลงทุนด้วย
การที่รัฐบาลได้จูงใจด้วยการให้อัตราภาษีที่สูง ทำให้การไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) ซึ่งเป็นผู้ซื้อไฟฟ้าเพียงรายเดียว ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในราคาสูง และส่งผลให้ราคาไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนและโรงงานเพิ่มขึ้นด้วย ทำให้ทางการเวียดนามได้พยายามลดอัตราภาษีที่สูงหลายครั้งแล้ว และขณะนี้กำลังพิจารณาทบทวนเกณฑ์ที่กำหนดไว้สำหรับอัตราภาษีการป้อนไฟฟ้าย้อนหลัง แม้ว่าโครงการต่าง ๆ จะผลิตไฟฟ้าได้แล้วก็ตาม
เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัทในประเทศและต่างประเทศหลายแห่งได้ยื่นคำร้องต่อรัฐบาลและผู้นำระดับสูงของเวียดนาม เกี่ยวกับโครงการพลังงานหมุนเวียนที่ดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว แต่ไม่ได้รับอนุมัติใบรับรองการยอมรับขั้นสุดท้าย (FAC) ก่อนเปิดใช้งาน โครงการจำนวนมากเริ่มดำเนินการและขายพลังงานให้กับ EVN โดยไม่ได้รับอนุมัติการก่อสร้างเสร็จสิ้น (CCA) ก่อน เนื่องจากกฎดังกล่าวไม่ได้ถูกบังคับใช้ตั้งแต่แรก ทำให้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการย้อนหลังของกฎหมายที่มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ อาจทำให้โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจะไม่ได้รับค่าไฟฟ้าอัตราพิเศษอีกต่อไป
โดยโครงการโรงไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบอยู่ภายใต้แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศเวียดนาม ฉบับที่ 7 (พีดีพี 7) ซึ่งกำหนดอัตรา FiT (FiT1) สำหรับโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ 9.35 เซนต์ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง โครงการพลังงานลมในทะเล อัตรา FiT1 9.85 เซนต์ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง และโครงการพลังงานลมบนบก อัตรา FiT1 8.50 เซนต์ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ซึ่งโครงการโซลาร์ และลม ที่อยู่ภายใต้แผนพีดีพี 7 สามารถก่อสร้าง และ COD ทันทั้งหมด
แต่เพื่อลดภาระอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่สูง มีการปรับอัตรา FiT ใหม่ (FiT2) เป็นโครงการที่ COD ก่อนวันที่ 30 มิถุนายน 2019 จะได้อัตรา FiT1 แต่โครงการโซลาร์ ที่ COD ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2022 จะได้ FiT2 ที่ลดลงเหลือ 7.09 เซนต์ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ส่วนพลังงานลมที่จะได้ FiT1 จะต้อง COD ภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2021 หากเกินกว่านั้นจะได้ FiT2 ที่ 6.35-7.26 เซนต์ต่อกิลโลวัตต์-ชั่วโมง ซึ่งมีการประเมินว่า FiT ใหมจะทำให้อัตราผลตอบแทนโครงการ (IRR) ลดลงทันที อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ IRR ลดลง 5% พลังงานลม IRR ลดลง 8%
ต้นปี 2022 รัฐบาลเวียดนามได้มีการประกาศว่าโครงการที่ COD แล้ว มีเอกสารไม่ครบถ้วน โดยไม่มีใบรับรองการยอมรับขั้นสุดท้าย (FAC) ก่อนเปิดใช้งาน และไม่ได้รับอนุมัติการก่อสร้างเสร็จสิ้น (CCA) กลุ่มนี้ถูกพิจารณาว่าโครงการมีปัญหา เป็นกลุ่มที่จะถูกประกาศให้ลดค่าไฟฟ้า
กลุ่มนักลงทุนพลังงานหมุนเวียนไทยและต่างประเทศ เรียกร้องให้รัฐบาลเวียดนามทำการทบทวน ซึ่งปลายปีก่อนมีการเรียกประชุมผู้ประกอบการที่ประสบปัญหา และมีการสั่งการให้กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของเวียดนาม ร่วมกับ EVN แก้ปัญหานี้ ซึ่งความคืบหน้าล่าสุดในตอนนี้ ยังไม่มีบทสรุปว่าจะเป็นอย่างไร แต่การจ่ายค่าไฟฟ้าสำหรับงวดเดือนธันวาคม 2024 ที่มีการจ่ายในเดือนมีนาคม 2025 ยังเป็นอัตราเดิม แต่สำหรับค่าไฟฟ้างวดเดือนมกราคม 2025 ซึ่งจะจ่ายในสัปดาห์ที่สองของเดือนเมษายน 2025 นี้ ยังไม่รู้ว่าค่าไฟฟ้าที่จ่ายมาจะถูกปรับลดลงหรือไม่ ดังนั้น ที่ผ่านมา EVN จึงใช้วิธีการชะลอการจ่ายค่าไฟฟ้าให้กับผู้ประกอบการบางราย หรือบางรายมีการจ่ายแค่ตามอัตราของ FiT2
“รัฐบาลเวียดนามกำลังพิจารณาแก้ไขอัตราภาษีสำหรับโครงการที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดตามการสอบสวนโครงการ FiT ในปี 2023 โดยโครงการเหล่านี้มีการทำสัญญากับ EVN ในอัตราภาษีคงที่เป็นเวลา 20 ปี จะต้องเปิดใช้งานภายในกำหนดเวลา FiT ซึ่งบางโครงการไม่มีสิทธิได้รับอัตรา FiT เพราะไม่มีไบรับรองการยอมรับขั้นสุดท้าย (FAC) ก่อนเปิดใช้งาน ซึ่เงป็นใบรับรองที่ออกโดยกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า หรือหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อยืนยันการดำเนินการโครงการจนเสร็จสมบูรณ์ หลังการพิจารณา EVN ได้ชะลอหรือระงับการชำระเงินเต็มจำนวนสำหรับบางโครงการที่ถือว่าไม่เป็นไปตามข้อกำหนด” แหล่งข่าวกล่าว
ซึ่งผลกระทบทางการเงินจากการชำระเงินที่ล่าช้าร้ายแรงมาก และการนำราคา FiT ย้อนหลังมาใช้ตามวันที่ออกเอกสารการยอมรับสร้างความกังวลให้ผู้ประกอบการ ซึ่งอาจส่งผลให้บางโครงการอาจจะขายโครงการออกไปเกือบ 100% หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หากสถานการณ์ยังคงดำเนินต่อไปหรือเลวร้ายลง อาจทำให้บริษัทต่าง ๆ ล้มละลายเป็นจำนวนมาก และสูญเสียเชื่อมั่นการลงทุนในเวียดนาม
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2025 ตัวแทนของโครงการพลังงานแสงอาทิตย์และลม ที่ดำเนินการแล้ว 4.2 กิกะวัตต์ ได้ยื่นคำร้องต่อรัฐบาลเพื่อให้คงอัตราค่าไฟฟ้ารับซื้อไฟฟ้าเดิมไว้ และให้มั่นใจว่า EVN จะปฏิบัติตามภาระผู้พันในการชำระเงิน โดย ACEN Corp., Super Energy Corp และ B Grimm Renewable Power 1&2 Co., เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมกัน 2 กิกะวัตต์ โดยเฉพาะ ACEN Corp ได้รับผลกระทบมากที่สุด มีกำลังผลิตไฟฟ้า 852 เมกะวัตต์ ส่วนผู้ประกอบการไทยมีการประเมินว่ามีโครงการรวมกันมากถึง 70% ที่อยู่ในข่ายที่มีความเสี่ยงต่อการเสียหายมากที่สุด
ทั้งนี้ มีการโต้แย้งว่า โครงการของภาคเอกชนได้มีการปฏิบัติตามกฎระเบียบ FiT อย่างสมบูรณ์ โดยได้รับเอกสารวัน COD ซึ่งเป็นการกำหนดสิทธิ FiT ในขณะนั้น แต่ข้อกำหนด FAC จะถูกนำไปใช้ย้อนหลัง เพราะเพิ่งนำมาใช้ในปี 2023 การแก้ไขอัตราภาษีสำหรับโครงการที่ได้ดำเนินการไปแล้ว จึงไม่ถูกต้อง
สำหรับผู้ประกอบการไฟฟ้าไทยที่ลงทุนในเวียดนามมีหลายรายมาก อาทิ บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) มีโครงการโซลาร์ 3 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 550 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม กำลังการผลิตติดตั้ง 171 เมกะวัตต์ และ 250 เมกะวัตต์
บริษัท อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มีโครงการ คือ Huong Linh 3 ขนาด 30 เมกะวัตต์ Che bien Tay Nguyen ขนาด 50 เมกะวัตต์ Trien Mien Nui ขนาด 50 เมกะวัตต์ และ Huong Linh 4 ขนาด 30 เมกะวัตต์
บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) มีโครงการพลังงานลม 100-150 เมกะวัตต์ และโซลาร์ฟาร์ม 677 เมกะวัตต์
บริษัท กัลฟ์ เอนเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) มีโครงการโซลาร์ฟาร์มและลม 2 โครงการ 120 เมกะวัตต์ และพลังงานลม 128 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ ยังมีบริษัทเอกชนไทยที่ไปลงทุนโครงการพลังงานหมุนเวียนในเวียดนามอีก อาทิ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด และบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นต้น ซึ่งบางโครงการที่ COD มานานแล้วก็จะไม่ได้รับผลกระทบ
24 ม.ค. 2568
25 ก.พ. 2568
15 มี.ค. 2568
20 มี.ค. 2568