จุฬาฯ จับมือ GC เดินหน้าศึกษาความเป็นได้ในการพัฒนานวัตกรรม
การรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีเซลล์และภูมิคุ้มกันบำบัด เพื่อคนไทยทุกคน
มะเร็ง โรคร้ายแรงที่คร่าชีวิตผู้ป่วยมากกว่า 1 แสนคนต่อปีและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกปี ใน 5 ปีที่ผ่านมา อ้างอิงข้อมูลทางสถิติจากกรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุข มีผู้ป่วยโรคมะเร็งทั้งสิ้น 330,716 คน และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประเทศไทย โรคมะเร็งเป็นโรคที่ยากต่อการรักษาให้หายขาดและมีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูงมาก ทำให้ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ จีซี จึงได้ร่วมมือกัน เพื่อศึกษาความเป็นได้ในการพัฒนานวัตกรรมการรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีเซลล์และภูมิคุ้มกันบำบัด โดย ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนามความร่วมมือกับ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ จีซี เดินหน้าศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมลงทุนดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนคนไทยสามารถเข้าถึงการรักษาโรคมะเร็งเทียบเท่าต่างประเทศ
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ เปิดเผยว่า “ปัจจุบันจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญต่อการพัฒนานวัตกรรมภายในประเทศ โดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เล็งเห็นถึงปัญหาและ ความยากลำบากของผู้ป่วยโรคมะเร็งในการต่อสู้กับโรคมะเร็งในทุกระยะ โดยผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถรับการรักษาได้ เนื่องจากข้อจำกัดของวิธีการรักษาโรคมะเร็งอีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายสูง ในปัจจุบันต่างประเทศ มีการนำเทคโนโลยีเซลล์และภูมิคุ้มกันบำบัดมาใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง และพบว่าผู้ป่วยจำนวนหนึ่ง ที่ได้รับการรักษาโดยวิธีดังกล่าวสามารถรอดชีวิตจากโรคมะเร็งได้”
การรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีเซลล์และภูมิคุ้มกันบำบัด เป็นความหวังใหม่สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ไม่สามารถรับการรักษาด้วยวิธีอื่นแล้ว หรือในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย แต่ปัจจุบันการรักษาโดยวิธีเซลล์และภูมิคุ้มกันบำบัด ยังไม่ได้นำเข้ามารักษาในประเทศไทยอย่างแพร่หลายเนื่องจำเป็นต้องนำเข้ายาและเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงมาก
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้เล็งเห็นถึงปัญหาภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคมะเร็ง จึงริเริ่มที่จะศึกษาความเป็นไปได้ที่จะร่วมมือกันพัฒนาเทคโนโลยีเซลล์และภูมิคุ้มกันบำบัดขึ้นมาในประเทศไทย โดยมีการพัฒนานวัตกรรมการรักษาด้วยเซลล์และภูมิคุ้มกันบำบัดในหลากหลายวิธี ทั้งการรักษาด้วยเทคนิค CAR-T Cell, Therapeutic Antibody และ Cancer Vaccine รวมถึงการพัฒนาการผลิตเกล็ดเลือดเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งบางชนิดที่อยู่ระหว่างรับการรักษา
ด้าน นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ กล่าวว่า “GC ได้จัดตั้งหน่วยงาน Corporate Venture Capital (CVC) ขึ้นเพื่อลงทุนใน 4 กลุ่มเทคโนโลยีหลัก คือ เทคโนโลยีวัสดุชั้นสูง (Advanced materials), ดิจิตอลแพลตฟอร์ม (Digital), เทคโนโลยีสะอาด (Cleantech) และ เทคโนโลยีชีวภาพและชีววิทยาศาสตร์ (Life science) สำหรับความร่วมมือกับจุฬาฯ ในครั้งนี้ เป็นการศึกษาความเป็นได้ในการลงทุนพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ภายในประเทศ โดยเริ่มต้นศึกษาแนวทางและรูปแบบในการดำเนินการรักษาโรคมะเร็งด้วยเทคโนโลยีเซลล์และภูมิคุ้มกันบำบัด เพื่อนำเทคโนโลยีกลับมาใช้ตอบแทนและพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน โดยการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนานวัตกรรมการรักษาโรคมะเร็งด้วยเซลล์และภูมิคุ้มกันบำบัดนี้ มีแผนการลงทุนเพื่อให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งในประเทศไทยมีโอกาสได้รับการรักษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ด้วยค่ารักษาพยาบาลที่เหมาะสม และยังมีเป้าหมายในการผลักดันให้การรักษานี้อยู่ภายใต้การคุ้มครอง ด้านสุขภาพของหลักประกันสุขภาพภาครัฐและเอกชน อีกทั้งยังเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจในการรักษาโรคมะเร็งด้วยเทคโนโลยีเซลล์และภูมิคุ้มกันบำบัดในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนา ด้านการแพทย์และการรักษาในประเทศไทยอย่างยั่งยืน”
ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดเป็นความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือจีซี โดยมุ่งหวังให้ประชาชนคนไทยได้รับโอกาสทางการรักษาอย่างเทียมและทั่วถึงโดยวิธีเซลล์และภูมิคุ้มกันบำบัดเทียบเท่าต่างประเทศอย่างแท้จริง