Last updated: 26 เม.ย 2563 | 656 จำนวนผู้เข้าชม |
รายงานผลการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)
ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ซึ่งมี นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานฯ ได้พิจารณาเรื่องสำคัญ ดังนี้
การนำเข้า LNG 1.5 ล้านตัน ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
ที่ประชุม กบง. ได้รับทราบข้อเสนอของ กฟผ. และ ปตท. ที่จะร่วมกันบริหารจัดการไม่ให้เกิดภาระ Take or Pay ภายใต้การกำกับของ กกพ. แทนการลงนาม MOU รับทราบความก้าวหน้าของการเจรจาสัญญา Global DCQ ที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2562 และเห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการการนำเข้า LNG ของ กฟผ. เพื่อไม่ให้เกิดภาระ Take or Pay ที่ กฟผ. และ ปตท.ที่ประชุม กบง. จึงมีมติให้ กฟผ. จัดซื้อ LNG แบบ Spot สำหรับการทดลองระบบการแข่งขัน ตามที่ กพช. ได้มีมติไว้เมื่อ 31 ก.ค. 60 และให้นำประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น โครงสร้างราคาก๊าซฯ หลักเกณฑ์การสั่งการเดินเครื่องโรงไฟฟ้า ต่อ กพช. พิจารณา สำหรับการไปเจรจาสัญญากับ Petronas มอบหมาย ให้ กฟผ. ไปเจรจา และการบริหารจัดการเรื่องสัญญาการใช้ LNG Terminal และท่อส่งก๊าซ มอบหมาย ให้ กกพ. ปตท. กฟผ. ไปดำเนินการและให้นำเสนอ กบง. ต่อไป
ทั้งนี้ กบง. ได้พิจารณาจากสถานการณ์ LNG ในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไป โดยราคา LNG Spot ปัจจุบันลดลงมาอยู่ที่ระดับ 4 USD/MMBTU ซึ่งเป็นสัญญาณว่าในช่วง 2 – 3 ปีข้างหน้า แนวโน้ม LNG จะมีราคาลดลง ซึ่งการจัดหา LNG ในประเทศไม่ได้ลดลง ปริมาณความต้องการใช้ LNG ก็ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นตามที่ได้ประมาณการไว้ ดังนั้น ความจำเป็นในการนำเข้า LNG มีแนวโน้มเปลี่ยนไปจากเดิม สิ่งสำคัญคือการนำเข้า LNG ของ กฟผ. ไม่ควรส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าและต้องไม่ให้เกิดภาระ Take or Pay อาจมีความจำเป็นต้องพิจารณาทบทวนการแบ่งราคา LNG เป็น 2 Pool และข้อจำกัดของกฎหมายในกรณีที่ กฟผ. จะนำ LNG ไปจำหน่ายในตลาดอื่นก่อนดำเนินการต่างๆ ซึ่งจากการพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องแล้ว กบง. จึงมีมติเห็นชอบข้างต้น แต่ทั้งนี้ยังคงคำนึงถึงแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ เพื่อรักษาผลประโยชน์และลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของประชาชนในภาพรวม
แนวนโยบายพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานรากที่ประชุม กบง. ได้รับทราบ ตามที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีแนวนโยบายการพัฒนาด้านพลังงานสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและทิศทางพลังงานโลก ที่มุ่งเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable) ให้พลังงานมีต้นทุนราคาเป็นธรรม และประชาชนสามารถเข้าถึงได้ (Affordable) ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างกลไกให้ชุมชนมีส่วนร่วมด้านพลังงาน และสร้างรายได้ให้กับชุมชนในระดับฐานรากของประเทศ (Energy For All) โดยมีแนวนโยบายพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานรากในด้านพลังงานไฟฟ้าด้วยการส่งเสริมให้มีโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งมีกรอบนโยบาย คือ พื้นที่เป้าหมาย: พื้นที่ที่มีศักยภาพพลังงานหมุนเวียนทั่วประเทศที่สามารถส่งเสริมให้เกิดโรงไฟฟ้าชุมชน และสอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่นั้นๆ โครงสร้างพื้นฐาน: มีระบบส่งและระบบจำหน่ายที่สามารถรองรับไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าชุมชนได้งบประมาณสนับสนุน: เปิดให้มีการใช้งบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในการสนับสนุนการลงทุนหรืออุดหนุนการดำเนินกิจการของโรงไฟฟ้าชุมชน
แนวทางการจัดตั้ง: ให้ชุมชนมีส่วนร่วมลงทุนโรงไฟฟ้ากับภาครัฐและ/หรือเอกชนเพื่อให้สามารถดำเนินกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ รับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชนตามเป้าหมายแผน AEDP และสอดคล้องกับแผน PDP2018 ตามศักยภาพพื้นที่ อาทิ พืชพลังงาน พลังงานแสงอาทิตย์ สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ ราคารับซื้อกระทบต่อราคาค่าไฟฟ้าน้อยที่สุด มีผลประโยชน์กลับคืนสู่ชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ส่วนลดค่าไฟฟ้า ส่วนแบ่งผลกำไรจากการดำเนินงาน รายได้จากการขายเชื้อเพลิงจากวัสดุทางการเกษตร โดยคาดว่า โรงไฟฟ้าชุมชนมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบไม่เกินปี 2565 ก่อให้เกิดการเสริมสร้างความมั่นคงของเศรษฐกิจฐานราก ตามนโยบาย “Energy For All” และให้นำเสนอต่อ กพช. ต่อไป
แนวทางการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 ทดแทนน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา (บี7) ที่ประชุม กบง. ได้เห็นชอบขยายส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลฯ บี10 ให้ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลฯ (บี7) ที่ 2 บาทต่อลิตร และลดส่วนต่างราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลฯ บี20 ให้ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลฯ (บี7) ที่ 3 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 และเห็นชอบตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป ให้บังคับใช้น้ำมันดีเซลฯ บี10 เป็นน้ำมันดีเซลฯ เกรดพื้นฐาน โดยให้น้ำมันดีเซลฯ (บี7) และน้ำมันดีเซลฯ บี20 เป็นทางเลือก ผลจากการใช้กองทุนฯ ในนโยบายการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลฯ บี 10 ทำให้อัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ น้ำมันดีเซลฯ (บี7) จากปัจจุบัน 0.50 บาทต่อลิตร เป็น 1.25 บาทต่อลิตร น้ำมันดีเซลฯ บี 10 จากปัจจุบัน -0.35 บาทต่อลิตร เป็น -0.60 บาทต่อลิตร น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 จากปัจจุบัน -4.20 บาทต่อลิตร เป็น -1.45 บาทต่อลิตร โดยการใช้กลไกด้านราคานี้จะเพื่อช่วยดูดซับปริมาณน้ำมันปาล์มดิบ สร้างความมั่นคงทางพลังงานที่มีส่วนผสมของวัตถุดิบในประเทศ รักษาเสถียรภาพระดับราคา CPO ของประเทศ ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง และลดปัญหามลภาวะทางอากาศ และจะนำเสนอต่อ กพช. ต่อไป
ทั้งนี้ ความพร้อมของการใช้น้ำมันดีเซลฯ บี 10 คาดว่าสต็อกน้ำมันปาล์มดิบคงเหลือในปัจจุบัน และผลผลิตปาล์มที่คาดการณ์ จะสามารถรองรับการใช้ CPO ตามเป้าหมาย ที่คาดว่าเดือน ธ.ค. 2562 จะมีการใช้ไบโอดีเซล บี100 ที่ระดับ 6.2 ล้านลิตรต่อวัน (เทียบเท่าการใช้ CPO 167,360 ตันต่อเดือน) มีผู้ผลิตไบโอดีเซล บี100 จำนวน 9 ราย ใช้ผสมเพื่อผลิตเป็นน้ำมันดีเซล บี 10 ได้ หรือ 6,892,242 ลิตรต่อวัน และมีค่ายรถยนต์รับรองว่าใช้น้ำมันดีเซลฯ บี10 ได้ประมาณ 5.2 ล้านคัน จากจำนวน 10.4 ล้านคัน หรือร้อยละ 50 ของรถยนต์ดีเซลทั้งหมด ในส่วนผู้ค้าน้ำมันที่ผลิตและจำหน่ายน้ำมันดีเซลฯ บี10 มีความพร้อม และสนับสนุนการดำเนินการตามนโยบายของภาครัฐ สำหรับ ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เดือน ส.ค. 62 กองทุนน้ำมันฯ มีสภาพคล่องสุทธิกลุ่มน้ำมัน 1,400 ล้านบาทต่อเดือน แยกเป็นกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล 1,320 ล้านบาทต่อเดือน กลุ่มดีเซล 69 ล้านบาทต่อเดือน ฐานะกองทุนน้ำมันรวม ณ วันที่ 25 สิงหาคม 2562 อยู่ที่ 38,210 ล้านบาท
กรอบนโยบายการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ภายใต้พระราชบัญญัติ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 กบง. ได้มีมติเห็นชอบ กรอบนโยบายการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง กำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้การดำเนินงานเกี่ยวกับการแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ในช่วงเปลี่ยนผ่าน จากสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) (สบพน.) เป็น “สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” และเพื่อให้การรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ให้ความเหมาะสมและต่อเนื่อง โดยให้นำเสนอ กพช. เพื่อพิจารณา ต่อไป
12 ธ.ค. 2567
14 ม.ค. 2568
14 ม.ค. 2568
15 ม.ค. 2568