Platform of Growth for Thaioil

Last updated: 26 เม.ย 2563  |  1314 จำนวนผู้เข้าชม  | 

Platform of Growth for Thaioil

Platform of Growth for Thaioil


ไทยออยล์ ชู CFP เป็น Platform of Growth ลงทุน 3,961 ล้านเหรียญ ตั้งเป้ามีกำไรสุทธิแตะ 1,000 ล้านเหรียญ ปี 2573 หลังก่อสร้าง CFP เสร็จ พร้อมต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มภายใต้ Beyond CFP ขยายปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์ และอะโรเมติกส์เพิ่มเติม ลงทุนธุรกิจไฟฟ้าและ Startup เพิ่ม ตั้งเป้าเป็นองค์กรร้อยปีที่มีความยั่งยืน

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยว่า บริษัทได้วางแผนกลยุทธ์ 3 ด้าน เพื่อรับมือกับอุตสาหกรรมปิโตรเลียมซึ่งกำลังถูก Disrupt จากกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก การพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานพลังงาน ทำให้บริษัทต้องวางแผนกลยุทธ์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

ซึ่งกลยุทธ์หลัก 3 กลยุทธ์ คือ 1.Strengthen the Core (ธุรกิจการกลั่นน้ำมันและธุรกิจไฟฟ้า) ที่จะเพิ่มกำลังการผลิต และอัพเกรดผลิตภัณฑ์ตามโครงการพลังงานสะอาด (CFP) การมีรายได้ที่มั่นคงจากธุรกิจไฟฟ้า และการบริหารสินทรัพย์และการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ 2.Value Chain Enhancement (ธุรกิจเคมี) ที่จะต่อยอดการลงทุนจากโครงการ CFP (Beyond CFP) ทั้งในสายอะโรเมติกส์ หรือโอเลฟินส์ และการผลิตผลิตภัณฑ์พิเศษมูลค่าสูง (HVS) และ3.Seed the Option (ธุรกิจนวัตกรรม) จะเข้าสู่ธุรกิจใหม่ผ่านการวิจัยและพัฒนา การร่วมลงทุนกับสตาร์ทอัพในธุรกิจที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านการผลิต เทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมและพัฒนาคุณภาพชีวิต และเทคโนโลยีเปลี่ยนธุรกิจปิโตรเลียม

ซึ่งโครงการ CFP ถือเป็น Platform of Growth ของไทยออยล์ ที่ใช้เงินลงทุน 3,961 ล้านเหรียญ จะเริ่มก่อสร้างในไตรมาส 1 ปี 2563 แล้วเสร็จไตรมาส 1 ปี 2566 ที่จะเพิ่มกำลังการผลิตการกลั่นน้ำมันเป็น 4 แสนบาร์เรลต่อวัน จาก 2.75 แสนบาร์เรลต่อวัน เพิ่มสัดส่วนการผลิตน้ำมันอากาศยานและดีเซลมูลค่าสูงจะเพิ่มขึ้น ส่วนน้ำมันเตาและยางมะตอยที่มีมูลค่าต่ำและมีแนวโน้มความต้องการลดลง จะไม่มีออกจากโรงกลั่น และเพิ่มความยืดหยุ่นในการรับน้ำมันดิบจากหลายแหล่ง สามารถเลือกใช้น้ำมันดิบชนิดหนัก (Heavy Crude) ที่มีราคาถูกมากลั่นได้ จากปัจจุบันต้องใช้น้ำมันดิบชนิดเบา (light crude) 100% จะทำให้ค่าการกลั่นเพิ่มขึ้นเป็น 11 เหรียญ/บาร์เรล จากปัจจุบัน 7-8 เหรียญ/บาร์เรล ทำให้สามารถกลั่นน้ำมันได้ตามมาตรฐานยูโร 5 ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และยังได้แนฟทาซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์พลอยได้จากโรงกลั่น 2.2 ล้านตันต่อปี ซึ่งเป็นวัตถุดิบปิโตรเคมีที่บริษัทมีแผนจะต่อยอดขยายลงทุน ภายใต้โครงการ Beyond CFP จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตพาราไซลีน 5.4 แสนตัน/ปี เป็นการร่วมลงทุนในกลุ่ม ปตท. และนอกกลุ่ม ปตท. โดยคาดว่าจะลงทุนโอเลฟินส์เพื่อผลิตโพลีโพรพิลีน (PP) และโพลีเอทิลีน (PE) อย่างครบวงจร

หลังจากที่ดำเนินโครงการต่างๆ แล้วเสร็จ ประมาณการว่ากำไรสุทธิในปี 2573 จะแตะระดับ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีกำไรสุทธิ 312 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยมีการตั้งเป้าสัดส่วนกำไรสุทธิในปี 2573 จะมาจากธุรกิจปิโตรเลียม 40% ปิโตรเคมี 40% ไฟฟ้า 15% และอื่นๆ 5% จากปัจจุบันมาจากธุรกิจปิโตรเลียม 60% อะโรเมติกส์และน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน 23% ไฟฟ้า 12% และอื่นๆ 5%

“การที่โครงการ CFP ผลิตน้ำมันดีเซลและน้ำมันอากาศยานได้เพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทฯ มีมาร์จิ้นเพิ่มขึ้น ในขณะที่การผลิตน้ำมันเบนซินไม่ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องดี เพราะในอนาคตน้ำมันเบนซินจะถูกแทนที่ด้วยรถยนต์ไฟฟ้า (EV) แต่ก็เชื่อว่าจะไม่สามารถทดแทนน้ำมันอากาศยานได้ ประกอบกับจะไม่มีน้ำมันเตาออกจากกระบวนการกลั่น จากปัจจุบันมีการผลิตน้ำมันเตาได้ 8-9% ของกำลังการผลิตทั้งหมด และการเลือกใช้น้ำมันดิบชนิดหนัก (heavy crude) มาเฉลี่ยนกับการใช้น้ำมันดิบชนิดเบา (light crude) ซึ่งในปัจจุบันมีการใช้น้ำมันดิบชนิดเบากลั่นในโรงกลั่นทั้ง 100% ซึ่งน้ำมันดิบชนิดเบาแพงกว่าน้ำมันดิบชนิดหนักถึง 7-8 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จะช่วยหนุนให้ค่าการกลั่นเพิ่มขึ้นด้วย” นายวิรัตน์ กล่าวเพิ่มเติม

สำหรับการขยายในธุรกิจไฟฟ้า เพราะเห็นว่าเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโต ซึ่งปัจจุบันมีกำลังผลิต 1,600 เมกะวัตต์ และภายใต้โครงการ CFP ยังมีโครงการ ERU ซึ่งใช้กากน้ำมันที่ได้จากการขยายกำลังการกลั่นน้ำมันมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า มีกำลังการผลิต 250 เมกะวัตต์ แต่ส่วนนี้ได้ให้ บริษัท โกลบอลเพาเวอร์ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ซึ่งเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าในเครือ ปตท. เป็นผู้ลงทุน ซึ่งจะช่วยลดภาระการลงทุนในโครงการ CFP

นอกจากนี้ ยังมองโอกาสในการปรับพอร์ตสินทรัพย์ที่มีอยู่ให้มีความเหมาะสม เช่น บริษัท ไทยออยล์มารีน จำกัด กำลังพิจารณาร่วมกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่จะมีโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมในอนาคต รวมถึงธุรกิจเอทานอลที่ถือหุ้นอยู่ 20% ในบริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด ก็อาจจะลดสัดส่วนการลงทุน หากบริษัทดังกล่าวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ ในช่วงปี 2562-2566 วางแผนที่จะใช้เงินการลงทุนรวม 4,834 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็น โครงการ CFP 3,961 ล้านเหรียญสหรัฐ การเพิ่มทุนใน GPSC จำนวน 574 ล้านเหรียญสหรัฐ และโครงการปรับปรุงหน่วยผลิต โครงการลงทุนด้านโลจิสติกส์ และสาธารณูปโภค 299 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยแบ่งเป็น ปี 2562 จะใช้เงินลงทุน 2,025 ล้านเหรียญสหรัฐ ปี 2563 จะใช้เงิน 1,894 ล้านเหรียญสหรัฐ ปี 2564 จะใช้เงิน 890 ล้านเหรียญสหรัฐ และปี 2565 จะใช้เงิน 624 ล้านเหรียญสหรัฐ

“ไทยออยล์เป็นผู้ประกอบธุรกิจการกลั่นและจำหน่ายน้ำมันปิโตรเลียมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นโรงกลั่นที่มีประสิทธิภาพสูงสุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2504 บริษัทฯ มีอายุครบ 58 ปี เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา และมุ่งเป้าสู่การเป็นองค์กรร้อยปีในอนาคต” นายวิรัตน์ กล่าว

ทางด้าน นางสาวภัทรลดา สง่าแสง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านการเงินและบัญชี TOP กล่าวว่า โครงการ CFP เป็นการจัดหาเงินทุนแบบ Corporate Finance ไม่ใช่ Project Finance จึงมีการกู้เงินน้อย ส่วนใหญ่จะใช้เงินสดที่มีในมือประมาณ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ประกอบกับเงินสดจากการดำเนินงานเข้ามาปีละ 300-400 ล้านเหรียญสหรัฐ และการจัดหาเงินผ่านการกู้ยืม และหรือออกหุ้นกู้เพิ่มเติม ประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการลงทุนในโครงการ

ซึ่งในปีนี้โครงการ CFP จะใช้เงินลงทุน 1,280 ล้านเหรียญสหรัฐ ปี 2563 จะใช้เงินลงทุน 1,788 ล้านเหรียญสหรัฐ ปี 2564 จะใช้เงินลงทุน 875 ล้านเหรียญสหรัฐ และปี 2565 จะใช้เงินลงทุน 624 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ที่ผ่านมา บริษัทได้ออกและเสนอขายหุ้นกู้สกุลเงินเหรียญสหรัฐไม่มีประกันและไม่ด้อยสิทธิ 565 ล้านเหรียญ อายุ 30 ปี ดอกเบี้ยคงที่ 3.50% ต่อปี ถือเป็นหุ้นกู้อายุ 30 ปี ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ และยังเป็นหุ้นกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำที่สุดของบริษัทที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับ BBB (Investment Grade) จากภูมิภาคเอเชียในรอบปีที่ผ่านมาอีกด้วย ภายหลังจากที่เสนอขายหุ้นกู้ดังกล่าวของไทยออยล์ให้แก่ผู้ลงทุนสถาบันในต่างประเทศ ได้รับความนิยมสูงมาก โดยมียอดจองทั้งหมดมากกว่า 3,700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 6.5 เท่าของวงเงินที่ตั้งไว้

ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานปีนี้ มีทิศทางอ่อนตัวลงตามค่าการกลั่น (GRM) และการหยุดซ่อมบำรุงใหญ่หอกลั่นที่ 3 (CDU 3) ทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ระดับ 110% จาก 113% ในปีก่อน อย่างไรก็ตาม การซ่อมบำรุงได้เสร็จสิ้นตั้งแต่กลางไตรมาส 3 ทำให้ไตรมาส 4 อัตราการใช้กำลังการกลั่นกลับมาอยู่ในระดับปกติ

สำหรับผลการดำเนินงานครึ่งปีหลังปีนี้ ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปรในไตรมาส 3 อยู่ที่ 6.5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ในไตรมาส 4 คาดว่าจะดีกว่าไตรมาส 3 เพราะเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวและฤดูท่องเที่ยว ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น ประกอบกับการกำหนดปริมาณน้ำมันเตากำมะถันต่ำที่ปล่อยออกจากเรือเหลือ 0.5% ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ส่งผลให้ค่าการกลั่นน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น

ทางด้าน นายฉัตรฐาพงศ์ วังธนากร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ด้านการพาณิชย์องค์กร TOP กล่าวว่า ในไตรมาส 4 คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจะเฉลี่ยอยู่ที่ 56-61 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล อ่อนตัวลงจากไตรมาส 3 จากสภาพเศรษฐกิจที่ยังคงซบเซา ส่วนพาราไซลีน คาดว่ายังคงอ่อนตัวต่อเนื่องจากอุปทานขึ้นใหม่ในจีนตั้งแต่ไตรมาส 2 และอุปทานที่จะเปิดใหม่ในไตรมาส 4 ทำให้อุปทานล้นตลาดต่อเนื่อง ในปี 2563 คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจะเฉลี่ยอยู่ที่ 58-63 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ทรงตัวเมื่อเทียบกับปี 2562

ส่วนค่าการกลั่นในปัจจุบันที่ปรับตัวลงแรง หลังได้รับแรงกดดันจากค่าขนส่งทางเรือที่พุ่งขึ้น จากที่สหรัฐประกาศคว่ำบาตรบริษัทในเครือของ COSCO ซึ่งเป็นบริษัทขนส่งและโลจิสติกส์ใหญ่ที่สุดของจีน บริษัทยังมั่นใจว่าจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าตลาด เพราะมีเรือขนส่งน้ำมันดิบของตัวเองบางส่วน และมีการกำหนดราคาค่าขนส่งคงที่แล้ว 75%

สำหรับการปรับปรุงโรงกลั่นน้ำมันเพื่อให้ได้มาตรฐานน้ำมันยูโร 5 ที่จะมีผลบังคับใช้ปี 2567 โครงการ CFP มีก่อสร้างหน่วยกลั่นน้ำมันดิบใหม่ 2.2 แสนบาร์เรล/วัน จะกลั่นน้ำมันได้มาตรฐานยูโร 5 ได้ แต่น้ำมันซึ่งกลั่นจากหน่วย CDU เดิม จะเข้าสู่กระบวนการปรับปรุงเพื่อให้ได้น้ำมันตามมาตรฐานยูโร 5 โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุน 1,000 ล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการเสร็จพร้อมโครงการ CFP

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้