Last updated: 26 เม.ย 2563 | 919 จำนวนผู้เข้าชม |
เอสซีจี ผนึกกำลัง The Ocean Cleanup สตาร์ทอัพระดับโลก
วิจัยและพัฒนาขยะจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ได้จาก InterceptorTM
มุ่งแก้ไขปัญหาขยะทะเลอย่างยั่งยืน
เอสซีจี โดยธุรกิจเคมิคอลส์ นำโดย ดร.สุรชา อุดมศักดิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ดูแลงานเทคโนโลยีและนวัตกรรม และ The Ocean Cleanup องค์กรสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมชั้นนำระดับโลก ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร โดย โบยาน สลาต Founder and CEO ลงนามในข้อตกลงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดปัญหาขยะทะเลในประเทศไทย โดยได้รับเกียรติจาก ท่านเคส ปีเตอร์ ราเดอ เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย เป็นประธานในพิธี ณ สถานทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย
ความร่วมมือในการวิจัยครั้งนี้ จะทำให้ประเทศไทยมีข้อมูลเรื่องขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งไหลลงสู่ทะเลที่ชัดเจนและถูกต้อง เพื่อนำมาศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดการขยะและนำมาสร้างประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนต่อไป ทั้งนี้ The Ocean Cleanup ได้ร่วมกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยสถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดทำข้อตกลงความร่วมมือในการติดตั้ง InterceptorTM เพื่อป้องกันขยะจากแม่น้ำไหลลงสู่ทะเลในประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สำหรับปัญหาขยะทะเลเป็นปัญหาที่ทั่วโลกตระหนักและมุ่งแก้ไขอย่างเร่งด่วนเพื่อสิ่งแวดล้อมในทะเล ประเทศไทยมีขยะในทะเลเป็นอันดับ 6 ของโลก ซึ่งจากการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่า ขยะทะเลส่วนใหญ่มาจากชุมชน ร้านค้า อุตสาหกรรมที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ การท่องเที่ยวตามชายหาด และหลุมฝังกลบที่จัดการไม่ถูกต้อง ดังนั้น การแก้ไขปัญหาขยะทะเลจึงจำเป็นต้องมีมาตรการหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการขยะจากบกเพื่อป้องกันไม่ให้ไหลลงสู่ทะเล ในขณะเดียวกันการเก็บขยะทะเล (cleanup) ก็ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเช่นกัน
คุณโบยาน สลาต Founder and CEO, The Ocean Cleanup กล่าวระหว่างเดินทางมากรุงเทพฯ ว่า “ขยะในมหาสมุทรมีที่มาจากบนบกโดยไหลผ่านแม่น้ำลำคลอง โดยมีแม่น้ำประมาณ 1,000 แห่งทั่วโลกที่ปล่อยขยะลงสู่ทะเลในปริมาณมาก คิดเป็นร้อยละ 80 ของขยะในมหาสมุทรทั้งหมด ซึ่ง The Ocean Cleanup ตั้งเป้าที่จะจัดการปัญหานี้ โดยพุ่งเป้าไปที่แม่น้ำที่มีปริมาณขยะสูง 1,000 แห่งทั่วโลกภายในปี 2568 และคาดว่าจะช่วยลดปริมาณขยะไหลลงสู่ทะเลและมหาสมุทรได้ร้อยละ 80 และในการจะกำจัดขยะทะเลนั้น นอกจากการเก็บขยะทะเลแล้ว การป้องกันไม่ให้ขยะไหลลงสู่ทะเลก็สำคัญอย่างยิ่ง เราต้องปิดกั้นไม่ให้รั่วไหล โดยเราจะร่วมมือกับภาครัฐ และเอกชนทั่วโลกเพื่อช่วยกันแก้ปัญหานี้ ด้วยนวัตกรรม InterceptorTM ที่จะเป็นโซลูชันของปัญหาขยะทะเล ปัจจุบันได้ทำการทดลองติดตั้งแล้ว 2 แห่งในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย และอยู่ระหว่างการติดตั้งแห่งที่ 3 ในเวียดนาม โดยมีแผนที่จะติดตั้งเพิ่มเติมที่สาธารณรัฐโดมินิกัน ที่ลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศไทยเป็นลำดับถัดไป สำหรับการร่วมงานกับเอสซีจีนั้น เราได้เห็นถึงความทุ่มเทและมุ่งมั่นที่จะสร้างสังคมให้ดียิ่งขึ้น และมั่นใจว่า passion ของเอสซีจีในการแก้ไขปัญหาขยะทะเลจะช่วยผลักดันให้เราทำตามเป้าหมายให้สำเร็จได้อย่างรวดเร็ว”
ด้านท่านเคส ปีเตอร์ ราเดอ เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ประเทศเนเธอร์แลนด์มีความเชี่ยวชาญในการนำหลัก Circular Economy และเทคโนโลยี รวมถึงมองหาแนวทางใหม่ ๆ มาใช้ในการจัดการกับปัญหาขยะ สถานทูตเนเธอร์แลนด์มีความยินดีที่ได้ร่วมมือกับภาคเอกชนของไทยอย่างเอสซีจี
ภาครัฐ และ The Ocean Cleanup ซึ่งเราจะร่วมกันแก้ไขปัญหาขยะทะเลเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน”
ด้านดร.สุรชา อุดมศักดิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ดูแลงานเทคโนโลยีและนวัตกรรม กล่าวว่า “ปัญหาขยะในแม่น้ำและทะเลในปัจจุบันกว่าร้อยละ 80 มาจากขยะจากบกซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อมทางทะเล การแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ตรงจุดที่สุด คือ การบริหารจัดการขยะจากบกให้มีประสิทธิภาพ มีการคัดแยกขยะและทิ้งให้ถูกที่ โดยไม่เกิดการหลุดรอดลงสู่แม่น้ำลำคลอง อย่างไรก็ตามการนำขยะจากแม่น้ำขึ้นมาจัดการให้ถูกต้องก็เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งการนำ R&D มาใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อดักจับขยะในแหล่งน้ำเป็นอีกวิธีที่จะช่วยลดปริมาณขยะที่ไหลจากแม่น้ำลงสู่ทะเลและมหาสมุทร
ความร่วมมือด้านการวิจัยกับองค์กรระดับโลกที่มีความเชี่ยวชาญอย่าง The Ocean Cleanup ในครั้งนี้จะช่วยแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเอสซีจีพร้อมอย่างยิ่งที่จะร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการเก็บข้อมูลขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างถูกต้อง พร้อมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในการนำขยะมาสร้างประโยชน์สูงสุดต่อไป”
15 ม.ค. 2568
14 ม.ค. 2568
12 ธ.ค. 2567
14 ม.ค. 2568