เอ็กโก กรุ๊ป จัดค่าย “โรงไฟฟ้าพี่ โรงเรียนน้อง” ปีที่ 3

Last updated: 26 เม.ย 2563  |  755 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เอ็กโก กรุ๊ป จัดค่าย “โรงไฟฟ้าพี่ โรงเรียนน้อง” ปีที่ 3

เอ็กโก กรุ๊ป จัดค่าย “โรงไฟฟ้าพี่ โรงเรียนน้อง” ปีที่ 3
ปลูกจิตสำนึกเยาวชนรักษ์พลังงาน
เสริมพฤติกรรมลดโลกร้อน มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

สิ่งแวดล้อมจะอยู่อย่างยั่งยืนได้ต้องเริ่มจากการมีจิตสำนึก เอ็กโก กรุ๊ป เชื่อว่า “ต้นทางดี จะก่อกำเนิดผลลัพธ์ปลายทางที่ดี” จึงให้ความสำคัญกับการเริ่มปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์และส่งเสริมพฤติกรรมการใช้พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่าในเยาวชน ซึ่งเป็นวัยต้นทางที่จะเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญของชุมชนและประเทศ ดังเช่นการจัดค่ายเยาวชนอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม “โรงไฟฟ้าพี่ โรงเรียนน้อง” ปีที่ 3 โดย บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป

“โลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะภาวะโลกร้อน เอ็กโก กรุ๊ป ในฐานะบริษัทผลิตไฟฟ้าชั้นนำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด นอกจากบริหารจัดการโรงไฟฟ้าในทุกที่ที่ดำเนินกิจการให้มีประสิทธิภาพดีที่สุดอย่างเต็มความสามารถ ยังส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกจิตสำนึกรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมให้กับเยาวชน ซึ่งเป็นต้นทางอนาคตของประเทศอย่างต่อเนื่อง ด้วยการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ถูกต้องให้กับเยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าในกลุ่มเอ็กโก ได้มีประสบการณ์ตรง โดยในปีที่ 3 นี้ได้มุ่งต่อยอดการเรียนรู้และเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ” นายภาสกร ศศะนาวิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบริหารโรงไฟฟ้า และประธานคณะทำงานส่งเสริมการมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชน เอ็กโก กรุ๊ป เล่าถึงแนวคิดของการจัดค่ายเยาวชนฯ ครั้งนี้

ค่ายเยาวชนฯ มีตัวแทนนักเรียนและครูจาก 21 โรงเรียนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าในกลุ่มเอ็กโกมาร่วมกิจกรรม ผ่านการเรียนรู้เรื่องรอยเท้าคาร์บอน ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน รวมทั้งการศึกษาดูงานการบริหารจัดการเมืองคาร์บอนต่ำในพื้นที่จริง และการประยุกต์ความรู้ที่ได้รับสู่การออกแบบโครงการจัดการปัญหาพลังงานและสิ่งแวดล้อม เพื่อลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกในโรงเรียนและท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม โดยบูรณาการความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เพื่อเสริมทักษะสำคัญของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ด้วยเครื่องมือที่หลากหลาย เช่น การใช้แผนที่คาร์บอน (Carbon Mapping) เป็นเครื่องมือสำรวจและวิเคราะห์ปัญหา การสังเคราะห์ความคิดโดยการสื่อสารด้วยภาพ (Visual Thinking) ตลอดจนการประยุกต์ใช้แนวคิดของ Project Concept ในการออกแบบโครงการ

น้องปุ้มปุ้ย - ด.ญ.ขวัญฤดี หงส์ษา นักเรียน ม.3 รร.วัดโกสินารายน์ จ.ราชบุรี เล่าถึงประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้จากค่ายฯ ว่า “กิจกรรมในค่ายเริ่มต้นจากที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับพลังงานและก๊าซเรือนกระจก การตามหารอยเท้าคาร์บอนจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา และที่สำคัญคือได้ลงมือทำแผนที่คาร์บอน เดินสำรวจสิ่งแวดล้อมและลองวาดรูปจำลอง ทำให้เรารู้ว่าตรงไหนเป็นแหล่งดูดซับและแหล่งปล่อยคาร์บอน เราสามารถช่วยกันปลูกต้นไม้เพื่อให้ไปดูดซับก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งวิธีการที่เราจะลดการใช้พลังงาน เช่น การปิดไฟเมื่อไม่ใช้แล้ว ไม่กินอาหารเหลือ ไม่ใช้ของที่ไม่จำเป็น เช่น ถุงพลาสติกใส่ขนม หรือนำแก้วจากที่บ้านมาใช้แทนแก้วพลาสติก”

น้องดั้มเปอร์ - ด.ช.กิตติภาค ทรทึก นักเรียน ม.2 ร.ร.ร้อยเอ็ดวิทยาลัย จ.ร้อยเอ็ด “ค่ายนี้ทำให้ผมได้ความรู้ใหม่เพิ่มขึ้นมากมายครับ ได้เห็นตัวอย่างโรงเรียนที่มีวิธีจัดการขยะรีไซเคิลและการลดปริมาณขยะในโรงเรียน การทำน้ำหมักจุลินทรีย์ EM การเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่เป็นประโยชน์ในโรงเรียน และยังได้ฟังบรรยายจากนายกเทศมนตรี อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี เกี่ยวกับการจัดการเมืองเพื่อลดขยะและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่ชัดเจน ผมจะนำกลับไปใช้ที่โรงเรียน เพราะเดิมโรงเรียนมีโครงการเกี่ยวกับการแยกขยะและลดขยะอยู่ แต่ได้รับความสนใจลดลง ผมจึงอยากนำความรู้กลับไปทำโครงการเพิ่มเกี่ยวกับการจัดการขยะให้ได้ผล มากขึ้น และจากตัวอย่างโรงเรียนต้นแบบจัดการสิ่งแวดล้อม ที่ผมสนใจคือ ผักปลอดสารพิษและปลูกต้นไม้เพิ่ม เพราะโรงเรียนของผมมีพื้นที่รกร้างอยู่ จึงอยากไปพัฒนาพื้นที่ต่อครับ”

ในขณะที่ ครูเบน - น.ส.กมลลักษณ์ สุวรรณวงศ์ รร.หอวังปทุมธานี กล่าวว่า “กิจกรรมค่ายในปีนี้ถือว่ามีบทเรียนใหม่เพิ่มเติม ตัวครูเองเคยสอนแต่วิทยาศาสตร์ มาครั้งนี้ได้เห็นอีกมิติที่ปกติไม่ได้นึกถึง คือ วิทยาศาสตร์กับสิ่งแวดล้อม และเรื่อง carbon footprint ก็เป็นความรู้ใหม่สำหรับเด็ก ทำให้ได้เรียนรู้ว่าปัจจุบันรอยเท้าคาร์บอนของโลกเราเพิ่มขึ้นได้อย่างไร รวมทั้งผลกระทบต่างๆ ที่แสดงให้เห็นใกล้ตัวเรามากขึ้น นอกจากนั้น ยังได้เห็นตัวอย่างที่ทำได้จริงจาก อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นเมืองตัวอย่างแห่งการแยกขยะและจัดการสิ่งแวดล้อม เรียกว่าให้แรงบันดาลใจกับคุณครูทุกคนและเด็กๆ เพื่อนำไปต่อยอดในการทำกิจกรรมในโรงเรียนด้วย”

ปิดท้ายด้วย ครูอ้อม – น.ส.ปฐมาวดี จิตหาญ ร.ร. วัดดอนเสลา จ.ราชบุรี กล่าวว่า “ค่ายนี้ทำให้เด็กรู้ว่าการอนุรักษ์พลังงานที่ถูกวิธีควรทำอย่างไร ถ้าเด็กเริ่มทำความเข้าใจตั้งแต่ตอนนี้ จะมีพลังงานใช้ได้ต่ออีกนาน ปีนี้ได้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่สามารถนำไปปรับใช้ในโรงเรียนได้ เช่น รอยเท้าคาร์บอน การคำนวณหาอายุผลิตภัณฑ์ (LCA ) จะนำไปสอนนักเรียนเกี่ยวกับการประเมินวัฎจักรผลิตภัณฑ์ ที่เราใช้ ว่ามีที่มาผลิตอย่างไรบ้าง ต้องสูญเสียพลังงานไปเท่าไร ทำให้เด็กเห็นความสำคัญเรื่องพลังงานมากขึ้น นอกจากนี้ ยังได้รู้ว่ารอยเท้าคาร์บอนหาได้อย่างไร สามารถสำรวจได้ว่าพฤติกรรมและการใช้ชีวิตประจำวันของเราได้ปล่อยปริมาณก๊าซเรือนกระจกออกมาเท่าไร ครูตั้งเป้าหมายจะพัฒนาโครงการกับนักเรียนที่มาร่วมค่ายครั้งนี้ ให้เป็นนักเรียนแกนนำที่ถ่ายทอดความรู้เรื่องคาร์บอนฟุตปริ้น การลดพลังงาน และลดขยะในโรงเรียนจากโครงการเดิมของโรงเรียนต่อไป”

นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นการเดินทางของเยาวชนและครูที่ผ่านค่ายเยาวชนอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม “โรงไฟฟ้าพี่ โรงเรียนน้อง” ปีที่ 3 แต่จุดหมายปลายทางของค่ายครั้งนี้คือการที่โรงไฟฟ้าในกลุ่มเอ็กโกและโรงเรียนจะร่วมกันต่อยอดและพัฒนาโครงการจัดการปัญหาพลังงานและสิ่งแวดล้อม และสามารถเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของโรงเรียนอย่างเป็นรูปธรรม จึงจะเรียกได้ว่าเป็นการก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำร่วมกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้