ทส. ร่วมกับ GC จัดการขยะพลาสติกในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ
ทส. ร่วมกับ GC เปิดตัวโครงการ
“ต้นแบบการบริหารจัดการขยะพลาสติกครบวงจรในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เพื่อเป็นโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับประเทศ”
นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. กล่าวว่า ทส. มีพันธกิจหลักในการขับเคลื่อนและสนับสนุนนโยบายประเทศสู่การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเชิงรุกเพื่อความสมดุลและยั่งยืนภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้วยการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในการจัดระบบอนุรักษ์ฟื้นฟูและป้องกันการทำลายทรัพยากรธรรมชาติเพื่อพัฒนาทุกภาคส่วนให้ขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกันสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) สร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี ลดมลพิษ และลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและระบบนิเวศ ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยมีการนำพลาสติกและโฟมมาใช้มากขึ้นในรูปแบบของบรรจุภัณฑ์ต่างๆ มากขึ้น อาทิ ถุงพลาสติกหูหิ้ว กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว หลอดพลาสติก เป็นต้น
พลาสติกถือเป็นวัสดุสังเคราะห์ที่มีบทบาทอย่างมากในชีวิตประจำวัน และมีแนวโน้มการใช้งาน มากขึ้น เนื่องจากพลาสติกมีคุณสมบัติเบา แข็งแรง ทนทาน และราคาถูก สามารถผลิตให้มีรูปแบบต่าง ๆ ตามที่ต้องการได้ด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่ก้าวหน้าและทันสมัย ทำให้ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์พลาสติก หลากหลายรูปแบบและมีสีสันสวยงามให้เลือกใช้อย่างมากมาย ด้วยคุณสมบัติที่โดดเด่นทำให้พลาสติก ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดขยะพลาสติกในปริมาณมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเมืองและชุมชนขนาดใหญ่มาตรการการจัดการขยะในหลายประเทศเป็นแบบองค์รวม มีทั้งกำกับ-บังคับ และ สนับสนุน-ส่งเสริม แต่หัวใจสำคัญของวาระแห่งชาตินี้ คือ ความร่วมมือของภาคีทุกภาคส่วน และเร่งหาต้นแบบโครงการตัวอย่างที่มีผลสำเร็จเป็นรูปธรรม เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง
ที่ผ่านมา ทส. ได้มีการจัดทำ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 เพื่อเป็นกรอบและทิศทางในการบริหารจัดการขยะพลาสติกของประเทศ และได้มีการขับเคลื่อนการลด เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ การงดให้ถุงพลาสติกหูหิ้วใน ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นมา มาตรการชายหาดปลอดบุหรี่ในพื้นที่ 24 จังหวัดชายทะเล การติดตั้งทุ่นลอยดักขยะปากแม่น้ำและคลองเพื่อลดปริมาณขยะลงทะเล และการเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มหรือแคปซีล (Cap Seal) ทั่วประเทศ ซึ่งนับได้ว่าประสบผลสำเร็จ เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดการขยายผลการดำเนินงานครอบคลุมทั่วประเทศ จึงจำเป็นต้องมีการขับเคลื่อนการดำเนินกิจกรรมหรือโครงการในการบริหารจัดการขยะพลาสติกร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องต่อไป
ทส. จึงได้ร่วมมือกับ GC ดำเนินโครงการ “ต้นแบบการบริหารจัดการขยะพลาสติกครบวงจรในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เพื่อเป็นโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับประเทศ” สนับสนุนการบริหารจัดการขยะพลาสติกในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ สู่เป้าหมายการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ด้วยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ภายใต้ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 การสร้างโมเดลแบบองค์รวมนี้ จะเป็นต้นแบบที่ดี ไม่เพียงแต่การแก้ปัญหาขยะ แต่การมีส่วนร่วมของภาคีต่างๆ รวมถึงนักท่องเที่ยว และประชาชน ให้เกิดส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานี้ได้ จะนำไปสู่ความเชื่อมั่นศักยภาพของประเทศไทย ในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก และเปลี่ยนจากวิกฤติเป็นโอกาส สร้างความเชื่อมั่นกลับคืนสู่ประเทศของเราต่อไป
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวง ทส. กล่าวว่า กรอบความร่วมมือในการดำเนินโครงการต้นแบบการบริหารจัดการขยะพลาสติกครบวงจรในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเพื่อเป็นโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับประเทศ” ระหว่าง ทส. กับ GC มีระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่มีนาคม 2563 ไปจนถึง มีนาคม 2564 ประกอบด้วยความร่วมมือการดำเนินงานหลัก 3 ด้าน คือ 1) ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สลายตัวได้ทางชีวภาพ ทดแทนการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งที่นำกลับมารีไซเคิลได้ยาก 2) ด้านการส่งเสริมการบริหารจัดการขยะ ตั้งแต่การคัดแยกขยะ การพัฒนานวัตกรรม สนับสนุนผลิตภัณฑ์รีไซเคิลหรืออัพไซเคิลจากความคิดสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลค่า และ 3) ด้านการประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร เพื่อสร้างวัฒนธรรมในการใช้และบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างความรับผิดชอบร่วมกันในสังคม โดยจะมีการติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดเป็นเป็นรูปธรรม
ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า GC ในฐานะผู้นำด้านความยั่งยืนในธุรกิจเคมีภัณฑ์ ซึ่งยึดหลักการดำเนินธุรกิจด้วย Circular Economy โดยตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาการจัดการขยะ จึงได้อาสามาร่วมทำโครงการฯ GC กำหนดแนวปฏิบัติตามหลัก Circular Economy ให้กับพื้นที่อุทยานฯ สนับสนุนองค์ความรู้ และดำเนินงานร่วมกับองค์กรอื่น ๆ ในการจัดการขยะพลาสติกแบบยั่งยืน GC มีทางออกที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน (Total Solutions for Everyone) และสร้างระบบ (Platform) เพื่อแก้ไขปัญหาแบบองค์รวมตลอดห่วงโซ่อุปทาน ครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ 1) Bio-based มุ่งเน้นการใช้ผลิตภัณฑ์ Bio Product ที่สลายตัวได้ด้วยการฝังกลบ 2) Fossil-based: มุ่งเน้นการใช้ผลิตภัณฑ์ด้วยความรับผิดชอบ นำขยะพลาสติกกลับมา Recycle หรือ Upcycle 3) Ecosystem: เดินหน้าสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน สร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้พลาสติก เพื่อให้เกิดการขยายผลในวงกว้าง 4) Inclusiveness: GC จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยพร้อมให้ความช่วยเหลือลูกค้า SMEs ให้ปรับตัวกับสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค โดยมีแนวร่วมสำคัญจากพันธมิตรทางธุรกิจ ได้แก่ TPBI และ Farm D
GC คาดว่าโครงการนี้จะเป็นการสร้างต้นแบบโมเดลแห่งความสำเร็จระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่น เพื่อขยายผลใน วงกว้างต่อไป
นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า อส. มีภารกิจหลักในการอนุรักษ์ คุ้มครอง ฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า โดยให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและจริงจังกับการจัดการขยะโดยเฉพาะขยะพลาสติกที่กำลังเป็นปัญหาทั่วโลก ทั้งนี้ อส.ได้ประกาศห้ามนำโฟมเข้าพื้นที่อุทยาน-แห่งชาติ มาตั้งแต่ปี 2546 และในปี 2563 อส. ได้มีนโยบายที่จะยกระดับให้อุทยานแห่งชาติเป็นอุทยาน-แห่งชาติปลอดขยะ (zero waste national park) และความร่วมมือในการดำเนินงานภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ครั้งนี้ อส. ได้คัดเลือกอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นพื้นที่นำร่องในการดำเนินงาน และจะขยายผลไปยังอุทยานแห่งชาติ อีกจำนวน 14 แห่ง ประกอบด้วย อุทยานทางบก 6 แห่ง ได้แก่ 1) อุทยาน-แห่งชาติอินทนนท์ 2) อุทยานแห่งชาติเอราวัณ 3) อุทยานแห่งชาติเขาสก อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก 4) อุทยานแห่งชาติภูกระดึง 5) อุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย 6) อุทยานทางทะเล 7 แห่ง ได้แก่ 1) อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า - หมู่เกาะเสม็ด 2) อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี 3) อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา 4) อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน 5) อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ 6) อุทยานแห่งชาติ ตะรุเตา 7) อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ซึ่งคาดว่าจะเป็นอุทยานแห่งชาติต้นแบบให้กับอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศต่อไป
นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า คพ. มีบทบาทภารกิจในการกำหนดนโยบายในการบริหารจัดการขยะพลาสติก ภายใต้ Roadmap การจัดการขยะพลาสติกของประเทศ พ.ศ. 2561 - 2573 โดยมีเป้าหมายที่ 1 คือ ลด และเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง 3 ชนิด ในปี 2562 ได้แก่ แคปซีล พลาสติกผสมสารอ็อกโซ่ และไมโครบีด และ 4 ชนิด ในปี 2565 ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบบาง โฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติก(แบบบาง) และหลอดพลาสติก และเป้าหมายที่ 2 คือ การนำขยะพลาสติกกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ร้อยละ 100 ภายในปี 2570 โครงการต้นแบบการบริหารจัดการขยะพลาสติกครบวงจรในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเพื่อเป็นโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับประเทศ” เป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน(Circular Economy) ภายใต้ Roadmap ดังกล่าว ซึ่งจะสามารถขยายการดำเนินงานไปสู่พื้นที่อื่นๆ เพื่อสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนของประเทศให้ก้าวไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป โดย คพ. พร้อมให้การสนับสนุนทางวิชาการในการดำเนินโครงการฯ ในการส่งเสริมการจัดเก็บและแยกขยะถุงและฟิล์มพลาสติกชนิดพอลิเอทิลีน (PE) และพอลิโพรไพลีน (PP) รวมถึงบริหารจัดการถุงและฟิล์มพลาสติกชนิด PE และ PP ให้เกิดมูลค่าเพิ่มเพื่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่อุทยานแห่งชาตินำร่องอย่างมีประสิทธิภาพ