สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน

Last updated: 6 พ.ค. 2563  |  874 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน

สนพ. เผยราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น
โดยที่ตลาดคาดว่าความต้องการใช้น้ำมัน เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการที่ผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองในประเทศในยุโรปและทั่วโลก

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เปิดเผยว่า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกในระหว่างวันที่ 27 เมษายน – 5 พฤษภาคม 2563 พบว่าราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดคาดว่าความต้องการใช้น้ำมันเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการที่ประเทศในยุโรป และประเทศต่างๆ ทั่วโลก เริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง และต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้ฟื้นตัวขึ้น สรุปประเด็นสำคัญ ดังนี้

ราคาน้ำมันโลก: ราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบดูไบและเวสต์เท็กซัส เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ $18.10 และ $15.76 ต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว $0.50 และ $12.53 ต่อบาร์เรล ตามลำดับ จากปัจจัยต่างๆ คือ
• ตลาดคาดว่าความต้องการใช้น้ำมันปรับเพิ่มขึ้น จากสหรัฐฯ และประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี ฟินแลนด์ และสเปน เริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง
• สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุด ณ 24 เม.ย. 63 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 9 ล้านบาร์เรล ต่ำกว่าคาดการณ์ว่าจะปรับขึ้น 10.6 ล้านบาร์เรล ขณะที่ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง 3.7 ล้านบาร์เรล
• Rystad Energy คาดว่าสหรัฐฯ จะปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบราว 300,000 บาร์เรล/วัน ในเดือน พ.ค.- มิ.ย. 63 โดยคณะกรรมการกำกับกิจการด้านพลังงานของรัฐเท็กซัส ก็จะมีการประชุมเพื่อลงคะแนนเสียงเกี่ยวกับการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบในวันที่ 5 พ.ค. 63 นี้

ราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปตลาดภูมิภาคเอเซีย
น้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 และ 92 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ $20.16 และ $21.19 ต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว $0.86 และ $3.41 ต่อบาร์เรล ตามลำดับ ซึ่งมีผลมาจาก
• ตลาดคาดว่าความต้องการใช้น้ำมันเบนซินปรับตัวสูงขึ้น หลังรัฐบาลหลายประเทศเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง
• ความต้องการใช้น้ำมันเบนซินของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 24 เม.ย. 63 เพิ่มขึ้น 10% มาอยู่ที่ 5.9 ล้านบาร์เรล/วัน นับเป็นปริมาณการใช้เชื้อเพลิงที่สูงที่สุดตั้งแต่ วันที่ 27 มี.ค. 63 ที่ผ่านมา แต่ก็ยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 37%
• EIA รายงานปริมาณสำรองเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 24 เม.ย. 63 ลดลง 3.7 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 259.6 ล้านบาร์เรล
• Euroilstock รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันเบนซินของยุโรป เดือน มี.ค. 63 ลดลง 0.27 ล้านบาร์เรล/วัน MoM หรือคิดเป็น 11.6% มาอยู่ที่ 2.08 ล้านบาร์เรล/วัน
น้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (10 PPM) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ $26.56 ต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว $0.69 ต่อบาร์เรล จากปัจจัย
• ความต้องการใช้น้ำมันดีเซลในภูมิภาคยังอยู่ในระดับต่ำจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 อย่างไร ก็ตาม ตลาดยังได้รับแรงหนุนจากอุปทานที่ลดลง หลังโรงกลั่นในภูมิภาคปิดซ่อมบำรุงและปรับลดกำลังการผลิต
• ปริมาณน้ำมันดีเซลในเอเชียมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังตะวันออกกลางมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ในการส่งน้ำมันดีเซลจากมายังเอเชียมากกว่าไปยุโรป
• EIA รายงานปริมาณสำรอง Distillates เชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 24 เม.ย. 63 เพิ่มขึ้น 5.1 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 142 ล้านบาร์เรล
• Platts รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ใน UAE ที่ FOIZ สัปดาห์สิ้นสุด 27 เม.ย. 63 เพิ่มขึ้น 0.6 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 4.1 ล้านบาร์เรล

ค่าเงินบาทของไทย
ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.03 บาท/เหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 32.6064 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ต้นทุนน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 0.17 บาท/ลิตร ในขณะที่ต้นทุนน้ำมันดีเซลลดลง 0.15 บาท/ลิตร ทำให้ ค่าการตลาดของน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล และน้ำมันดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2.01 บาท/ลิตร และค่าการกลั่น เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 0.97 บาท/ลิตร

ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
ณ วันที่ 3 พ.ค. 63 กองทุนน้ำมัน มีสินทรัพย์รวม 56,548 ล้านบาท หนี้สินกองทุน 21,093 ล้านบาท
ฐานะกองทุนน้ำมันสุทธิ 35,455 ล้านบาท แยกเป็น
o บัญชีน้ำมัน 41,465 ล้านบาท
o บัญชี LPG -6,010 ล้านบาท

แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดคาดว่าความต้องการใช้น้ำมันเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการที่หลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ ฝรั่งเศส อิตาลี ฟินแลนด์ สเปน และประเทศต่างๆ ทั่วโลก เริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง หลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้นและต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้ฟื้นตัวขึ้น ประกอบกับกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและพันธมิตรหรือกลุ่มโอเปกพลัส (OPEC+) ได้เริ่มเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบตามข้อตกลงที่ ระดับ 9.7 ล้านบาร์เรล/วัน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 63 ตามข้อตกลงในการประชุมฉุกเฉินในช่วง 12 เม.ย. 63 ที่ผ่านมา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้