Last updated: 11 พ.ค. 2563 | 15542 จำนวนผู้เข้าชม |
สถานการณ์พลังงานโลกในยุค COVID-19
สำนักงานพลังงานสากล (The International Energy Agency: IEA) คาดการณ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 จะทำให้ความต้องการพลังงานทั่วโลกในปีนี้ลดลงถึง 6% ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 70 ปี หรือนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง และเทียบเท่ากับการสูญเสียความต้องการพลังงานทั้งประเทศอินเดียซึ่งเป็นผู้บริโภคพลังงานรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก
การคาดการณ์นี้มาจากสมมติฐานที่ว่า มาตรการทิ้งระยะห่างทางสังคมจะค่อยๆ ผ่อนคลายลงในไม่กี่เดือนข้างหน้า และสภาพเศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น ซึ่งหากธุรกิจฟื้นได้เร็ว ภาพรวมความต้องการพลังงานในปีนี้อาจจะลดลงแค่ 3.8% แต่หากสถานการณ์ COVID-19 กลับมาแพร่ระบาดอีกระลอก ความต้องการพลังงานทั่วโลกก็อาจจะลดลงมากกว่า 6%
รายงานของ IEA ระบุว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ความต้องการพลังงานทั่วโลกได้ปรับตัวลดลง 3.8 %จากปีก่อนหน้า โดยแหล่งพลังงานจากถ่านหินได้รับผลกระทบอย่างมากจากสถานการณ์แพร่ระบาดในจีนซึ่งเป็นประเทศผู้ใช้ถ่านหินรายใหญ่ของโลก ขณะที่ความต้องการน้ำมันก็ดิ่งลงอย่างฮวบฮาบ เนื่องจากประมาณ 60 % ของความต้องการน้ำมันดิบทั่วโลกมาจากภาคการเดินทางและการบิน ดังนั้น การที่ผู้คนหันมาอยู่บ้านมากขึ้น ในขณะที่สายการบินหยุดให้บริการ จึงส่งผลให้ความต้องการน้ำมันลดลงอย่างมาก
ในส่วนของความต้องการใช้ไฟฟ้าก็หดตัวลงเช่นกัน โดย IEA คาดว่า ความต้องการไฟฟ้าจะลดลง 5% ในปีนี้ ซึ่งจะทำให้ความต้องการก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าลดลงตามไปด้วย หลังจากที่เติบโตต่อเนื่องมาตลอด 10 ปี
อย่างไรก็ตาม แหล่งพลังงานที่คาดว่าจะเติบโตในปีนี้ก็คือแหล่งพลังงานหมุนเวียน ซึ่งมีต้นทุนต่ำและสามารถเข้าถึงได้จากหลายแหล่ง อีกทั้งยังมีกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากโครงการใหม่ๆ โดยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ การผลิตกระแสไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนเติบโตขึ้น 3% คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 28% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากระดับ 26% ของปีก่อนหน้านั้น
สำหรับในปีนี้ IEA คาดว่า การผลิตกระแสไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนจะเติบโตขึ้น 5% โดยการใช้พลังงานหมุนเวียนทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 1% ซึ่งยังต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19
อย่างไรก็ดี พลังงานหมุนเวียนถือเป็นแหล่งพลังงานที่มีความยืดหยุ่นมากที่สุดสำหรับช่วงวิกฤต COVID-19 และยังมีแนวโน้มเติบโตได้ไม่ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเร็วหรือช้า
นอกจากนี้ การระงับดำเนินการของธุรกิจต่างๆ ยังส่งผลการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยรายงานของ IEA คาดว่า ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกในปี 2020 จะอยู่ที่ระดับ 30.6 กิกะตัน หรือลดลงเกือบ 8% จากปี 2019
ที่มา :
https://www.cnbc.com/2020/04/30/energy-demand-set-to-fall-the-most-on-record-this-year-amid-coronavirus-pandemic-iea-says.html
21 พ.ค. 2564
11 ต.ค. 2564
10 ส.ค. 2566
4 พ.ค. 2564