Last updated: 14 พ.ค. 2563 | 1053 จำนวนผู้เข้าชม |
ราช กรุ๊ป มั่นใจธุรกิจไฟฟ้าเติบโตต่อเนื่องหลังวิกฤติโควิด-19
บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ไม่หวั่นโควิด-19 เดินหน้าเจรจา M&A โรงไฟฟ้า คาดปิดดีลได้ 5 แห่งในปีนี้ นอกจากนี้ จะขยายการลงทุนไปในธุรกิจอื่นมากขึ้น และศึกษาการจัดตั้งโรงงานผลิตและประกอบรถไฟและรถไฟและรถไฟฟ้า และซ่อมบำรุง รวมทั้งรอนโยบายรัฐเรื่องการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ส่วนผลประกอบการไตรมาส 1 มีกำไรสุทธิ 1,360 ล้านบาท พร้อมย้ำตั้งเป้าลงทุน 20,000 ล้านบาทในปีนี้
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 บริษัทฯ ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากโรงไฟฟ้าของ RATCH ทั้งโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) และโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ประมาณ 80-90% และส่วนที่เหลือได้ขายไฟฟ้าและไอน้ำให้ลูกค้าอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรม เพียงแต่จะต้องมีการบริหารจัดการให้สามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้เต็มความสามารถ และมีความมั่นคงในการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบตามสัญญา
“การเกิดวิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้ ทำให้เพิ่มน้ำหนักในการบริหารจัดการความเสี่ยง รวมทั้งการจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจ เพื่อป้องกันและลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ และสังคม ปรับองค์กรสู่การเป็น Smart Workplace และมองเห็นโอกาสในการลงทุนมากขึ้น โดยจะเข้าไปซื้อกิจการโรงไฟฟ้า (M&A) ในโครงการที่มีปัญหาด้านการเงินและต้องการขายโรงไฟฟ้าออกมา การเข้าไปลงทุนพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) การขยายธุรกิจสีเขียว (Wood Pallet) การพัฒนาโครงการ Independent Power Supply (IPS) เพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรมการผลิต การต่อยอดธุรกิจจากโครงข่าย Internet of Things (IoT) เพื่อตอบสนองภาคธุรกิจและผู้บริโภค การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) รวมถึงการลงทุนพัฒนานวัตกรรมร่วมกับกลุ่ม กฟผ.” นายกิจจา กล่าว
บริษัทฯ ยังขับเคลื่อนให้ธุรกิจผลิตไฟฟ้าให้บรรลุเป้าหมาย 10,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2566 เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องหลังวิกฤติโควิด-19 คลี่คลาย จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยคาดว่าในปีนี้จะใช้เงินลงทุนตามแผนเดิมที่ 2 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในโครงการต่อเนื่อง 1 หมื่นล้านบาท และโครงการใหม่ 1 หมื่นล้านบาท
โดยการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้า คาดว่าในปีนี้จะสามารถทำ M&A ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 5 โครงการ ซึ่งในไตรมาส 2 คาดว่าจะตกลงได้ 1-2 โครงการ โดยเป็นโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าพลังน้ำ โรงไฟฟ้าพลังงานลม และการจัดหาเชื้อเพลิงชีวมวล ซึ่งประเทศเป้าหมายที่จะลงทุน ประกอบด้วย ประเทศไทย อินโดนีเซีย สปป.ลาว เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย
ทั้งนี้ เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทฯ ได้เข้าไปร่วมทุนในโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก ประเภทโคเจนเนอเรชั่น 2 แห่งในประเทศไทย มูลค่าการลงทุนส่วนทุนรวม 888 ล้านบาท โดยถือหุ้น 49% ในโครงการโรงไฟฟ้าเน็กส์ซิฟ เอ็นเนอร์จี ระยอง กำลังการผลิต 92 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ในปี 2565 และถือหุ้น 40% ในโครงการโรงไฟฟ้า REN โคเจนเนอเรชั่น นครราชสีมา กำลังการผลิต 40 เมกะวัตต์ คาดว่าจะ COD ในปี 2566
ส่งผลให้ปัจจุบันบริษัทฯ มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 7,159.19 เมกะวัตต์ จากแผนการผลิตไฟฟ้ารวม 8,716.15 เมกะวัตต์ โดยอีก 1,556.96 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างการพัฒนาและก่อสร้าง
แต่จากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การพัฒนาโครงการพลังงานลมยานดิน และคอลเลคเตอร์ ในออสเตรเลีย จะมีการเลื่อนกำหนดการ COD ออกไปเล็กน้อย โดยโครงการยานดินจะเลื่อนจากเดือนกันยายน 2563 เป็นพฤศจิกายน 2563 และโครงการคอลเลคเตอร์จะเลื่อนจากเดือนมกราคม 2564 เป็นกุมภาพันธ์ 2564
ส่วนการลงทุนในระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน จะลงทุนด้านนวัตกรรมร่วมกับ กฟผ. ดำเนินโครงการระบบเก็บค่าผ่านทาง และ O&M โครงการมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา และบางใหญ่-กาญจนบุรี โครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ District 9 การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ และจะต่อยอดการลงทุนโครงข่าย IoT
นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่าศึกษาการจัดตั้งโรงงานผลิตและประกอบรถไฟและรถไฟฟ้า และซ่อมบำรุงในประเทศไทย โดยร่วมกับกลุ่ม AMR Asia เพื่อรองรับการขยายรถไฟรางคู่ และรถไฟฟ้าทั่วประเทศ ซึ่งรัฐบาลมีแผนที่จะทำอีก 40-50 สาย ระยะทางประมาณ 4-5 พันกิโลเมตร ก็เป็นโอกาสที่จะเข้าไปลงทุนผลิตรถไฟและรถไฟฟ้าขึ้นในประเทศไทย ซึ่งในส่วนของ RATCH จะดำเนินการในส่วนของระบบการผลิตไฟฟ้า ระบบจำหน่าย ระบบกักเก็บ และระบบประหยัดพลังงานไฟฟ้า ส่วนพาสเนอร์ก็มีความสามารถในเรื่องของการผลิตรถไฟฟ้าอยู่แล้ว
สำหรับการขอเป็นผู้จัดหาและนำเข้าก๊าซ LNG ขึ้นอยู่กับนโยบายของกระทรวงพลังงานว่าจะเป็นอย่างไร และจะมีการคิดคำนวณสูตรราคาก๊าซฯ ใหม่อย่างไร จากปัจจุบันก๊าซฯ ที่จัดหามาทั้งโดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้มีการนำเข้ามาคำนวณเฉลี่ยรวมราคาก๊าซ (Pool) ทั้งหมด ซึ่งบริษัทฯ ได้เสนอรายละเอียดการนำเข้าก๊าซฯ ไปที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ซึ่งในช่วงนี้เป็นโอกาสที่จะจัดหาก๊าซ LNG ได้ในราคาถูก หากได้รับอนุญาตให้จัดหาเองได้ ก็จะนำเข้ามาใช้ในโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ของตนเอง หรืออาจจะมีการขายให้กับรายอื่นต่อไป
สำหรับผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2563 บริษัทฯ มีกำไรก่อนรับรู้ผลกระทบอัตราแลกเปลี่ยน จำนวน 1,983.85 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.5% จากไตรมาสที่ 1 ปี 2562 และเมื่อรับรู้การขาดทุนทางบัญชีอัตราแลกเปลี่ยน บริษัทฯ มีกำไร 1,360.82 ล้านบาท ลดลง 21.8% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ส่วนรายได้รวมอยู่ที่ 4,506.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.3%
สาเหตุหลักที่กำไรลดลง เนื่องจากรับรู้ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจากสกุลเงินเหรียญออสเตรเลียอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับสกุลเงินเหรียญสหรัฐ ในขณะที่รายได้จากส่วนแบ่งกำไรกิจการร่วมทุนเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยสำคัญมาจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสาที่มีการเดินเครื่องเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงโรงไฟฟ้าเบิกไพรโคเจนเนอเรชั่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียนเซน้ำน้อย และโรงไฟฟ้าราชโคเจนเนอเรชั่น ที่จะเริ่มรับรู้รายได้เต็มปีในปีนี้
2 ม.ค. 2568
26 ธ.ค. 2567
26 ธ.ค. 2567
2 ม.ค. 2568