Last updated: 5 มี.ค. 2564 | 1057 จำนวนผู้เข้าชม |
“กกพ.” ตรึงค่าไฟต่อรับมือน้ำมันขาขึ้น
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2564 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)
มีมติให้ตรึงค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2564 โดยให้เรียกเก็บที่ -15.32 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ผู้ใช้ไฟฟ้ายังคงจ่ายค่าไฟฟ้าเท่าเดิมในอัตรา 3.61 บาทต่อหน่วยต่อไปอีก 4 เดือน
“กกพ. มองว่า แนวโน้มราคาน้ำมันดิบที่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 54.8 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มาอยู่ในระดับ 60 เหรียญสหรัฐต่อบาเรลในเดือนมีนาคม 2564 และแนวโน้มการอ่อนตัวลงของค่าเงินบาทจาก 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มาเป็น 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐในเดือนมีนาคม 2564 อาจส่งผลต่อค่าเอฟทีในช่วงปลายปี อีกทั้งความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังจากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 คลี่คลายในครึ่งปีหลัง จะส่งผลต่อการเพิ่มความต้องการใช้เชื้อเพลิงในตลาดโลกอย่างรุนแรง จึงใช้หลักการประเมินค่าเอฟทีตลอดทั้งปีเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะมีศักยภาพในการรักษาเสถียรภาพค่าไฟฟ้าตลอดปี 2564” นายคมกฤช กล่าว
สำหรับปัจจัยในการพิจารณาค่าเอฟที (ตามปกติ) ในรอบเดือน พ.ค. – ส.ค. 2564 ประกอบด้วย
1. ความต้องการพลังงานไฟฟ้าในช่วงเดือน พ.ค. – ส.ค. 2564 เท่ากับประมาณ 67,885.43 ล้านหน่วย ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดือน ม.ค. – เม.ย. 2564 ที่คาดว่าจะมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าเท่ากับ 60,685.17 ล้านหน่วย หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.86
2. สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือน พ.ค. – ส.ค. 2564 ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก ร้อยละ 55.5 ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด นอกจากนี้เป็นการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ (ลาวและมาเลเซีย) รวมร้อยละ 17.02 และค่าเชื้อเพลิงลิกไนต์ของ กฟผ. ร้อยละ 8.73 ถ่านหินนำเข้าโรงไฟฟ้าเอกชน ร้อยละ 8.72 และอื่นๆ อีก ร้อยละ 10.03
3. สถานการณ์ราคาเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ตามข้อมูลจริงเดือนมกราคม 2564 ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนเท่ากับ 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และราคาน้ำมันดิบดูไบอ้างอิงที่ 54.8 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล ราคาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้นจาก
4. อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยที่ใช้ในการประมาณการ (วันที่ 1 – 31 มกราคม 2564) เท่ากับ 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากประมาณการในงวดเดือนมกราคม – เมษายน 2564 ที่ผ่านมา ที่ประมาณการไว้ที่ 31.4 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
อย่างไรก็ตามหากพิจารณาแนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบ และอัตราแลกเปลี่ยนที่เปลี่ยนแปลงในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 แล้วพบว่าอาจมีผลต่อการประเมินค่าเอฟที จึงพิจารณาใช้สมมติฐานน้ำมันดิบดูไบที่ 60 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล และอัตราแลกเปลี่ยนที่ 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ในการคำนวณแทนและประเมินเอฟทีตลอดทั้งปี ส่งผลให้ค่าเอฟทีเป็น -18.02 สตางค์ต่อหน่วยในรอบเดือน พ.ค. – ส.ค. 2564 และ -7.95 สตางค์ต่อหน่วยในรอบเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2564 ตามลำดับ (เฉลี่ย -13.14 สตางค์ต่อหน่วยตลอดปี)
นอกจากนี้หากพิจารณาความสามารถในการตรึงค่าเอฟทีที่ -15.32 สตางค์ต่อหน่วย จะต้องใช้เงินบริหารจำนวน 2,610 ล้านบาท ในขณะที่ กกพ. ยังคงมีเงินบริหารเก็บไว้จำนวน 4,129 ล้านบาท กกพ. จึงตัดสินใจตรึงค่าเอฟทีที่ -15.32 สตางค์ต่อหน่วยในรอบเดือน พ.ค. – ส.ค. 2564
ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ. จะดำเนินการรับฟังความคิดเห็นค่าเอฟทีสำหรับการเรียกเก็บในรอบเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2564 ทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 5 – 19 มีนาคม 2564 ก่อนที่จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป
26 ธ.ค. 2567
26 ธ.ค. 2567
26 ธ.ค. 2567